ปตท. จับมือ สวทช. เดินหน้านวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์มาตรฐานสากลของคนไทย

237


มิติหุ้น  – 
 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย การลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี น้ำยาเคลือบวัสดุคอมพอสิทของ ไฮดรอกซีอะพาไทต์และไทเทเนียมไดออกไซค์บนแผ่นนอนวูฟเวนเพื่อใช้เป็นแผ่นกรองสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัย Safie Plus และ การลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาวัสดุฝังในทางการแพทย์ (Implant devices) ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และนายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ และศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เป็นสักขีพยาน

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Model ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ภายในปี 2570 ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเทียบเท่าสากล ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวมทั้งผลกระทบของโรคระบาดโคโรนาไวรัส 19 ในปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการติดเชื้อเกือบ 6 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ อุปกรณ์ วัสดุทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์ในการให้บริการที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานของบริการที่สูงขึ้นด้วย

“รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน ซึ่งการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ภายในประเทศที่จะสนับสนุนระบบบริการ ดังนั้นกระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนภาคธุรกิจที่ผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากการวิจัยอย่างเต็มที่ เพราะเป็นงานที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยกระทรวง อว. มีหน้าที่สนับสนุนนโยบายและเดินหน้ายุทธศาสตร์กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพตามนโยบาย BCG Economy Model เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าว

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (Assistive Technology and Medical Devices Research Center: A-MED) ซึ่งเป็นทีมวิจัยที่วิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมสุขภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สวทช. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมโดยการดำเนินการส่งมอบหน้ากากอนามัย Safie Plus กว่า 300,000 ชิ้น เป็นนวัตกรรมผลงานวิจัยโดยทีมวิจัยไทยเพื่อคนไทย แก่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนาม หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพดีและได้มาตรฐานระดับสากล และนำมาสู่การขยายผลความร่วมมือครั้งนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยน้ำยาเคลือบแผ่นกรองหน้ากาก Safie Plus ที่มีคุณสมบัติในการกรองไวรัส แบคทีเรีย และฝุ่น PM 2.5 ที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับน้ำยาเคลือบแผ่นกรองหน้ากาก Safie Plus เป็นการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดักจับจุลินทรีย์และฝุ่นละอองโดยสารเคลือบไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซค์บนแผ่นนอนวูฟเวนของเส้นใยธรรมชาติผสมพอลิเอสเตอร์ที่มีรูพรุนระหว่างเส้นใยขนาดเล็กและเนื่องจากมีเส้นใยธรรมชาติเป็นองค์ประกอบจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้ง่ายที่มีประสิทธิภาพการกรองไวรัสและ PM2.5 ตามมาตรฐาน ASTM F2101 และ ASTM F2299 ตามลำดับได้มากถึง 99% ซึ่งผลงานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน ของ A-MED และทีมวิจัยสิ่งทอ ของ MTEC สวทช. ที่ผสมผสานความรู้ทางด้านวัสดุทางการแพทย์กับ สิ่งทอเข้าด้วยกันในการพัฒนาเทคโนโลยี

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตเครื่องมือแพทย์และวัสดุฝังในร่างกายมนุษย์ ถือเป็น 1 ในแผนหลักเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน (Medical Hub) ในปี 2570 ซึ่ง สวทช. ได้มีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ฝังในทางการแพทย์ (Implant devices) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ถือเป็นก้าวแรกของการร่วมมือกันในการขยายผลและการร่วมวิจัยพัฒนา ทดสอบ ออกแบบและผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ โดยสามารถนำมาพัฒนาให้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ทางการแพทย์สำหรับวัสดุฝังใน เช่น กะโหลกศีรษะเทียม เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยเป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้คนไทยสามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษาด้วยวัสดุฝังในที่ผลิตในประเทศ และได้มาตรฐานทางการแพทย์ระดับสากล สอดคล้องกับเป้าหมายนโยบาย BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังในของ A-MED มีประสบการณ์ยาวนานในการพัฒนาอุปกรณ์ฝังในทางการแพทย์หลากหลายชนิดเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นในโลกหลังโควิด-19 และถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย BCG ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย จึงเร่งพัฒนาธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต หรือ Life Science ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีของโลก เพิ่มโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลได้มากขึ้น รวมทั้ง ปตท. ได้ลงทุนผ่านบริษัทอินโนโพลีเมดในการสร้างโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-woven Fabric) มีลักษณะเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับไมโครเมตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากาก อุปกรณ์ PPE ทางการแพทย์ และแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง โดยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ตันต่อปี ด้วยการใช้เม็ดพลาสติกที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. เอง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ประเทศยังคงต้องเผชิญอยู่ ปตท. โดยสถาบันนวัตกรรม เล็งเห็นโอกาสในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวด้วยการร่วมมือกับ สวทช. ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ตอบโจทย์ BCG เพื่อนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ไปสร้างเป็นนวัตกรรมหน้ากากอนามัยและหน้ากากอเนกประสงค์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะสำหรับใช้งานจริง ให้มีความพร้อมในการผลิตและการจำหน่ายเชิงพาณิชย์

นอกจากนั้นแล้ว ปตท. ยังให้ความสนใจในการลงทุนการวิจัยและพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากในปัจจุบันประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากต่างประเทศอยู่ ตัวอย่างเช่น วัสดุฝังใน (Implant devices) โดยทำการคัดเลือกพลาสติกชนิดต่าง ๆ ที่มีสมบัติเหมาะสมจากกลุ่ม ปตท. มาประยุกต์ใช้งาน ด้วยฝีมือและองค์ความรู้ของคนไทย เพื่อช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศร่วมกัน ยกระดับงานวิจัยสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของนักวิจัยไทย ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“การดำเนินการทั้งสองโครงการดังกล่าวนับเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของนักวิจัยไทยให้สามารถนำไปผลิตเป็นนวัตกรรมที่สามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จริง ทั้งยังเป็นการตอบโจทย์กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของอาเซียนในอนาคต”