CIMBT ยืนหยัดเป้าหมายก้าวเป็น ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

40
มิติหุ้น   –   นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปี 2565 จะมุ่งเน้นโซลูชั่นทางการเงินอย่างยั่งยืน และตอบความต้องการลูกค้าอย่างตรงจุด ผ่านการขับเคลื่อนจากธุรกิจหลัก โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอาเซียนและ digital platform ภายใต้กลยุทธ์ Forward23+
วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์  Forward23+
วิสัยทัศน์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในการจะก้าวเป็น ‘ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ‘ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Forward23+ โดยธนาคารจะปรับโครงสร้างพอร์ตโฟลิโอ ปรับประสิทธิภาพการใช้ต้นทุน กระจายความเสี่ยงของเงินฝาก บริหารจัดการความเสี่ยงเข้มข้น เพิ่มทักษะของคนทำงาน เพิ่มมูลค่าให้คนด้วยทักษะดิจิทัล และต้องทำธุรกิจบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืน ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ จะขับเคลื่อนให้เติบโตโดยธุรกิจ 3 แกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย (Consumer Banking) ธุรกิจรายใหญ่ (Wholesale Banking) และธุรกิจบริหารเงิน (Treasury and Markets)
ธุรกิจรายย่อย – ดิจิทัลและการใช้ฐานข้อมูลจะมีบทบาทหลักที่ช่วยขยายการเข้าถึงและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ธนาคารได้พิสูจน์มาแล้วโดยให้ลูกค้าและผู้ใช้แอป CIMB THAI Digital Banking ได้สัมผัสประสบการณ์ digital banking ที่สะดวกสบาย ง่าย และราบรื่น ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี (Speed D) และสปีดดี พลัส (Speed D+)  ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะสด ใหม่ และตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ธนาคารปักธงจะเป็นผู้นำตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘Wealth Credit Line’ และการจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรผ่านแอปมือถือเมื่อปี 2564 เพื่อขยายโอกาสและทางเลือกในการลงทุนแบบเปิดกว้างให้ลูกค้า จากการเปิดให้ลูกค้าจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรตลาดแรกผ่าน CIMB THAI Digital Banking ลูกค้าให้การตอบรับดีเกินคาด ธุรกรรมเติบโตรวดเร็ว สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ digital wealth platform ที่ธนาคารสร้างขึ้น จึงได้เดินหน้าเพิ่มบริการจองซื้อหุ้นกู้ตลาดรองเข้ามาเพิ่มเติมในแอป CIMB THAI Digital Banking ยิ่งช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้ามีต่อเนื่อง หัวใจสำคัญที่ต้องทำงานคู่กันกับ digital wealth platform คือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาการลงทุน และ relationship manager ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า
  การจัดหาแหล่งเงินทุนให้ลูกค้ารายย่อยเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารจะขยับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ประสบความสำเร็จจากการเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักที่ลูกค้านึกถึง ก้าวถัดไปคือขยับเข้าดิจิทัล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้บริการโดยบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และบริษัท เวิลด์ลีส ตามลำดับ จะประสานพลังการทำงานระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรและคู่ค้า ตลอดจนใช้ประโยชน์จากดิจิทัลมากขึ้น
ธุรกิจรายใหญ่ – ธนาคารจะเดินหน้าสนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้บริการทางการเงิน ในระยะยาว อย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแข็งแกร่งในอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบี และการที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นำอาเซียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ยิ่งทำให้ธนาคารสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนได้แข็งแรงขึ้น ค้นหาพันธมิตรรายใหม่ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกกว้างขึ้นของแหล่งทุน และเปิดโอกาสขยายธุรกิจเติบโตตลาดต่างประเทศ
ธุรกิจบริหารเงิน – ธนาคารจะรักษาสถานะผู้นำตลาดของการเป็นผู้ออกผลิตภัณฑ์และผู้จัดจำหน่าย โดยปี 2564 Treasury ของธนาคารเป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดตลาดและเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) และได้รับรางวัล THOR Pioneer จากธนาคารแห่งประเทศไทย ปีนี้ ธนาคารจะขยายธุรกิจ Treasury เติบโตต่อเนื่องทั้งกลุ่มลูกค้า wealth รายย่อย และกลุ่มลูกค้า wealth รายใหญ่ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการจัดจำหน่าย และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ธนาคารจะเพิ่มเติมรายได้ใหม่ๆ อาทิ รายได้อัตราแลกเปลี่ยนจากการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน และบริการคัสโตเดียน
สรุปผลการดำเนินงานประจำปี 2564
ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท หรือ 89.1% (“YoY”) ธนาคารมีผลการดำเนินงานดีขึ้น แม้รายได้จากการดำเนินงานจะลดลง 3.9% สาเหตุหลักมาจากการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 25.7%
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.7% ลดลงเมื่อเทียบกับ 4.6% ณ สิ้นปี 2563 สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 117.5%  เพิ่มขึ้นจาก 93.3% ณ สิ้นปี 2563 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.3 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
ตลอดปีที่ผ่านมา ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับการยอมรับจากหลากหลายธุรกิจ แสดงถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จจากธุรกิจที่ธนาคารมีจุดแข็ง ปีนี้และปีต่อๆไป ธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ให้บริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมและส่งมอบบริการอันเป็นเลิศให้ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และสังคม

 

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp