เวทีเกียรตินาคินภัทร The Year Ahead 2022 ชี้ ไทยพลิกการผลิตรับสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเร่งด่วน รักษาโอกาสทางธุรกิจ

48

มิติหุ้น   –  บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาใหญ่ The Year Ahead 2022 ว่าด้วยเทรนด์สำคัญประจำปี ซึ่งงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Year of CHANGE, in Year of CHANCES โดยมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมพูดคุยถึงผลกระทบเร่งด่วนของกรอบอนุสัญญา COP26 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อศักยภาพการแข่งขันของภาคการผลิตและธุรกิจของไทย ในหัวข้อ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความท้าทายและโอกาส’ (Climate Change: Challenges and Opportunities) ทั้งนี้ งาน The Year Ahead เป็นงานสัมมนาแฟลกชิปประจำปี สำหรับลูกค้า Wealth Management ของบล.เกียรตินาคินภัทร เพื่อให้ข้อมูลสำคัญที่กระทบเศรษฐกิจการลงทุน โดยงานจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา

จากการที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อประชาคมโลก ภายใต้กรอบอนุสัญญา COP26 ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ให้ได้ใน ค.ศ. 2050 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรับกับพันธะสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซมลพิษสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต (เช่น วัสดุก่อสร้าง) การขนส่ง (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์) และภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการปรับตัวนี้จะสร้างทั้งความท้าทาย ความเสี่ยง และโอกาสมากมาย แต่หากไม่ปรับหรือขยับตัวช้าเกินไป ก็จะได้รับผลกระทบทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญของประเด็นนี้มากขึ้น หรือกฎระเบียบที่ประเทศต่างๆจะนำมาบังคับใช้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

“ถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไรกับอุตสาหกรรมยานยนต์หรือทำช้าเกินไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า ไทยจึงไม่ได้ตั้งข้อสงวนไว้ รถยนต์ไฟฟ้าจึงถูกถือว่าเป็นรถยนต์ประเภทอื่นๆ ซึ่งภาษีนำเข้าที่เมืองไทยเป็น 0% ในวันนี้สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในเมืองไทยคือเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์แบตเตอร์รี่ ได้ทันเวลาหรือไม่ ถ้าเวลาไม่พอเหมาะ หรือไปเร็วเกิน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนก็ปรับตัวไม่ทัน แต่ถ้าช้าเกินไป ไทยอาจจะพลาดโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า อุตสาหกรรมเกษตรและการผลิตอาหารก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวไปสู่อาหารทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากการเกษตรเป็นกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมากถึง 17% การผลิตเนื้อวัวปล่อยคาร์บอนนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 4.3 กิกะตัน/ปี มากกว่าการผลิตเต้าหู้ถึง 30 เท่า ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารจึงจำเป็นต้องหันกลับมามุ่งเน้นการปรับตัวในกระบวนการผลิตอาหารที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอน และโปรตีนทางเลือกก็เป็นแนวทางหนึ่งนั้น เพราะต่อจากนี้ไปผู้นำเข้าในฝั่งตะวันตกที่เป็นแกนนำในนโยบายนี้จะยกประเด็น carbon footprint มาพิจารณาเป็นหลัก

นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังมองหาโอกาสเป็น Cloud Server หรือ Data Center เพื่อดึงดูดธุรกิจ IT ให้เข้ามาลงทุน ยังคงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องที่มาของพลังงานไฟฟ้า และประเด็นพลังงานสะอาดควบคู่ไปด้วย เพราะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกได้ให้คำมั่นว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ดังนั้น หากต้องการให้บริษัทอย่าง Amazon Web Service และ Microsoft Azure มาลงทุน ประเทศไทยก็ต้องมีแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับไว้ป้อนบริษัทเหล่านี้

“การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่ Net Zero จะเกิดขึ้นทั้งโลก ถ้าเราทำอะไร เช่น ถ้าเราอยากเป็นผู้ส่งออกอาหาร แต่ไม่ปรับตัวในการลดคาร์บอน สุดท้ายก็จะทำมาหากินไม่ได้ เพราะถูกกดดันจากผู้บริโภคจำนวนมาก ถ้าไม่ทำหรือปรับตัวช้าก็จะหมดโอกาสทางธุรกิจอย่างแน่นอน เริ่มจาก อาหาร รถยนต์ และวัสดุก่อสร้าง สุดท้ายก็จะเกี่ยวข้องกันทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของเศรษฐกิจไทย

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp