ตามไปดู 5 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

292

มิติหุ้น – พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยตลอดมากมายหลายโครงการ จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวสืบสานศาสตร์พระราชบิดาแห่งการพัฒนาบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยกรมชลประทานได้ปฏิบัติหน้าที่สนองพระราชดำริกว่า 70 ปี และจะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้วิสัยทัศน์ “กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580”

จากจุดเริ่มต้นของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกที่กรมชลประทานก่อสร้างมาสู่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมชลประทานรวมแล้ว 183 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง การปรับปรุง การจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ หลายโครงการเป็นการต่อยอดพัฒนาแหล่งน้ำ โดยยึดมั่นในแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่

รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 ให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นบริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ 8,500 ไร่ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง 3 วิธี เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือมีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดิน น้ำ และพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้ โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ปศุสัตว์และโคนม และเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ชุมชนรอบพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้นน้ำลำธาร ทำให้ผืนป่าต้นน้ำลำธารเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตน้ำไปใช้ในส่วนพื้นที่ด้านล่างได้

 

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช

อุทกภัยเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของลุ่มน้ำปากพนังที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีปริมาณฝนตกมากแต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มราบ มีความลาดชันน้อย ประกอบกับภาวะอุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ เกิดภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ โดยหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาคือให้เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นงานหลักในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด

กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริโดยก่อสร้างประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ” ตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อเสร็จสมบูรณ์ปี 2542 ซึ่งเป็นประตูที่แบ่งแยกน้ำ มีการบริหาร จัดการ อย่างสมดุล ปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลำน้ำ กักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ดำรงชีพ และเอื้ออำนวยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำปากพนังเป็นไปอย่างยั่งยืน ประตูระบายน้ำแห่งนี้มีความสามารถเก็บกักน้ำจืดเหนือประตูระบายน้ำได้ 72 ล้านลูกบาศก์เมตร มี 10 ช่องบานระบายและมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ในอัตรา 1,246 ลูกบาศก์เมตร/วินาที มีการบริหารจัดการอย่างผสมผสานทั้งหลักวิชาการและเทคโนโลยีการจัดการน้ำของกรมชลประทาน ผนวกกับการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่นในรูปของคณะกรรมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ คน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร ถือเป็นศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนํ้าจืดสำหรับใช้ในการเกษตร การอุปโภคฤดูแล้ง ปัญหานํ้าทะเลบุกรุกในฤดูแล้ง และปัญหานํ้าท่วมพื้นที่ทำกินของราษฎรเป็นบริเวณกว้างในฤดูฝน

 

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ

ตั้งอยู่ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้น หากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา โดยโครงการฯ สร้างเสร็จเมื่อปี 2548 สามารถร่นระยะทางการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร เหลือ 600 เมตร และลดเวลาจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาที ทำให้ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือเป็นโครงการแรกที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้กรมชลประทานได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการค้นคว้าและวิจัยกังหันไฟฟ้าพลังงานน้ำ เพื่อพัฒนาเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากการระบายน้ำให้มากที่สุด และยังเป็นต้นแบบกังหันน้ำที่ถูกน้ำไปติดตั้งที่ประตูระบายน้ำทั่วประเทศด้วย

 

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี

โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) สูง 33 เมตร ยาว 3,970 เมตร มีทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่ นับตั้งแต่ปี 2560 จวบจนปัจจุบัน เขื่อนได้ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝน ลดน้ำท่วมในพื้นที่ได้ตามเป้าหมาย จนปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนหน้าแล้งสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในระบบชลประทาน สามารถผลักดันน้ำเค็มที่เคยรุกล้ำลุ่มน้ำปราจีนและบางปะกงจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อแปลงเพาะปลูกและการผลิตน้ำประปาของทั้ง 2 จังหวัด อาทิ สวนทุเรียนปราจีนบุรี ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มอีก และเนื่องจากอ่างเก็บน้ำอยู่กลางอุทยานแห่งชาติ จึงสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่า สัตว์ป่ากลับมาหากินในพื้นที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น หมี ช้าง และกระทิง อีกทั้งประชาชนบางส่วนได้เปลี่ยนอาชีพจากการเพาะปลูก มาเป็นชาวประมงจับปลาในอ่างเก็บน้ำแล้วนำมาแปรรูปสร้างรายได้ ขณะเดียวกันธรรมชาติก็สวยงามเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวธรรมชาติ

 

อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร

จากเหตุการณ์อุทกภัยจากพายุโซนร้อนเซินกา เมื่อปี 2560  ทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำไหลข้ามทำนบดินบ่าเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนของประชาชน รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นมีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปีซึ่งได้รับความเสียหายให้ใช้การได้โดยเร็ว ต่อมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีขนาดความจุของระดับเก็บกัก 3,000,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ชาวอำเภอเมืองสกลนคร จำนวน 1,223 ครัวเรือน 4,584 คน มีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ สนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำห้วยทรายขมิ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสนองพระราชดำริด้านงานชลประทานที่กรมชลประทาน ตั้งปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำด้วยความเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ ปฏิบัติงานด้วยระบบงานมาตรฐานอันทันสมัย ใส่ใจการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคงและยั่งยืน