ปตท. และ BIG มั่นใจ MAP พร้อมเริ่มเดินเครื่องโรงแยกอากาศไฮเทค แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

57

ด้วยนวัตกรรมขั้นสูงในการใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นที่ได้จากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม และออกซิเจนรองรับความต้องการด้านสาธารณสุข
ลดการพึ่งพาไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลดลง ตอบรับเทรนด์สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (Map Ta Phut Air Products., Ltd.: MAP) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) พร้อมเดินเครื่องโรงงานแยกอากาศ (Air Separation Unit: ASU) ที่ใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากที่ปัจจุบันพลังงานความเย็นจาก LNG ถูกปล่อยทิ้งโดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ ปตท. และ BIG จึงร่วมมือศึกษาต่อยอดนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากความเย็นดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้โรงแยกอากาศ MAP เป็นแห่งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตก๊าซอุตสาหกรรมจากความเย็นจากกระบวนการแปรสภาพ LNG อาทิ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน ปริมาณมากถึง 450,000 ตันต่อปี มูลค่าลงทุนรวมกว่า 2,000 ล้านบาท และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 28,000 ตันต่อปี อันเนื่องมาจากการลดการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด กล่าวเสริมว่า โรงแยกอากาศ MAP ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีกำลังการผลิตออกซิเจนเพื่อใช้ในทางการแพทย์กว่า 140 ตันต่อวัน จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถผลิตออกซิเจนเหลวได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ หากเกิดความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ก๊าซอุตสาหกรรมที่ผลิตได้จะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยไนโตรเจนที่ผลิตได้นอกจากจะสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ยังสามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมด้านความเย็นตามโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ด้วย

พร้อมกันนี้ โรงแยกอากาศ MAP ยังสนับสนุนกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)  ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้ง ปตท. และ BIG ที่ยึดมั่นการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมตลอดมา

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp