วว. รับรางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564

81

มิติหุ้น  –  นายสมศักดิ์   เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  มอบรางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564  (Human  Rights  Awards  2021)  ให้แก่ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)   กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม   (อว.)  ซึ่งเป็นรางวัลจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม  มอบให้องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคมที่ดำเนินการตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน  มีผลการดำเนินงานโดดเด่นในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆ ในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น  61 องค์กร  โดยมีการมอบรางวัลในวันที่  29  กันยายน  2564  ผ่านระบบ Zoom  Meeting

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   กล่าวว่า  นโยบายสิทธิมนุษยชนของ วว.  มุ่งเน้นในการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเท่าเทียม

หลีกเลี่ยงการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน  สนับสนุนและส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ซึ่งเป็นไปตามหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน  โดยมีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้านการแปลงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2565) สู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ได้แก่

  1. โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมต้นแบบของการปลูกป่าแบบบูรณาการ เพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน  ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี การผลิตกล้าไม้และเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในชุมชน เพื่อการปลูกป่า และมีผลผลิตจากเห็ดป่าที่สร้างมูลค่า  มีผลผลิตด้านการเกษตร (เห็ดเผาะ  เห็ดตับเต่า)  และพืชผัก  ผลไม้ (กาแฟ  อะโวคาโด มะม่วง  ขนุน)  ตลอดจนการปลูกไม้มีค่า  โดยใช้ระบบการปลูกแบบผสมผสาน (วนเกษตร) ระหว่างป่าไม้  เห็ดป่า และพืชเกษตร  ช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์  พร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับชุมชน  ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น  โดยปี 2562-2563 ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน พะเยา ลำปาง เพชรบูรณ์ และปี 2564  ดำเนินการในจังหวัดเชียงราย ลำพูน  เชียงใหม่  นครราชสีมา  ศรีสะเกษ  สกลนคร   สระแก้ว  และสงขลา   โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบในทุกจังหวัด ๆ  ละ  1  แห่ง  มีผลการดำเนินการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกป่าร่วมกับการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซากินได้ให้แก่เกษตรกร  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐจำนวน  1,000 คน ในพื้นที่  13  จังหวัด  สนับสนุนกล้าไม้มีค่าและพืชเศรษฐกิจที่ใส่เชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาจำนวน  20,000  ต้น ก่อให้เกิดพื้นที่เขียว 100 ไร่  รวมทั้งจัดทำคู่มืออบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับเผยแพร่ต่อสาธารณะชน จำนวน 6,500 เล่ม  จัดทำพื้นที่แปลงตันแบบการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบผสมผสานร่วมกับการเพาะเห็ดป่ไมคอร์ไรซากินได้ และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ จำนวน  2 แห่ง ในชุมชนบ้านบุญแจ่ม  จังหวัดแพร่  มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานแล้ว 1,000 คน  เพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตให้เกษตรกรที่นำเชื้อเห็ดไปใส่ต้นไม้ และเพิ่มมูลค่าของกล้าไม้เป็น 2 เท่า โดยการใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในกล้าไม้ก่อนการจำหน่าย
  2. โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 โดยยกระดับการผลิตพืชแบบเกษตรสมัยใหม่ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต  ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง  BCG โมเดล  ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดยแบ่งเป็นพืชไร่ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง  ข้าวโพดหวาน  พืชสวน  โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้  ผลิตและแจกจ่ายสารชีวภัณฑ์ 1.29 ล้านลิตร  มีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์  50,000  ไร่ ผลักดันผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคม คิดเป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรวม 12.1370  ล้านบาท  โดยมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  11.8990  ล้านบาท (ต้นทุนลดลง  0.0500  ล้านบาท ลงทุนเพิ่มขึ้น  0.8710 ล้านบาท รายได้เพิ่ม  21.1840  ล้านบาท  มูลค่าองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นและเผยแพร่  0.1750  ล้านบาท)  ผลกระทบด้านสังคม  0.2380  ล้านบาท (มูลค่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  0.0080  ล้านบาท และลดค่าใช้จ่าย  0.2300  ล้านบาท)
  3. โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ด้านการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia) เป็นการดำเนินงานแบบ  Quadruple  Helix  จตุภาคี ระหว่าง  วว.  (หน่วยงานวิจัย)  มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเอกชน และชุมชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพในรูปแบบ  BCG  โดยมุ่งคืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable  Creation  of  Shared Values) สร้างเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า  เช่น  พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตอัตลักษณ์เครื่องสำอางที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานจากการใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพ  เน้นความเป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งผู้ประกอบการนำไปสร้างจุดเด่น หรือสร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจได้  โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้ ร่วมดำเนินการกับ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด วิทยาลัยชุมชนจังหวัดน่าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนเทคโนโลยีการสกัดสมุนไพรระดับชุมชน ให้กับวิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน เพื่อยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพิ่มคุณภาพและปริมาณสารสกัดสมุนไพร ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของกลุ่มมีคุณภาพสูงขึ้น  สนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์คุณสมบัติของสารสกัด ทำให้ได้ใบรับรองผลิตภัณฑ์ (COA) สามารถจำหน่ายสารสกัดในรูปแบบ “สารสกัดคุณภาพสูง”  ผ่านงานวิจัย มีใบรับรองผลิตภัณฑ์  (COA)  วิสาหกิจชุมชนชีววิถีบ้านน้ำเกี๋ยน มีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายในประเทศจำนวน  759,523.00  บาท หรือคิดเป็นรายได้เพิ่มร้อยละ 33.9

“…วว. สนับสนุนพนักงานและลูกจ้างในเรื่อง  Gender  Equality  ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย  เรายอมรับในความหลากหลายของบุคลากรใน วว. และมีความตั้งใจที่จะดูแลพนักงาน  ลูกจ้าง ทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน  เราคาดหวังไว้ว่า วว. จะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของ  Safe  Space  ของทุกเพศสภาพ…” ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว. กล่าว

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp