AMR เซ็นเอ็มโอยูหน่วยงานรัฐ-เอกชน  ร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากรระบบราง  มั่นใจช่วยเพิ่มขีดแข่งขันให้กับประเทศ 

50

มิติหุ้น – AMR จรดปากกาเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย รวม 72 หน่วยงานภาครัฐ-สถานการศึกษา-ภาคเอกชน ร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากร รองรับอุตสาหกรรมระบบราง ฟากผู้บริหาร “มารุต ศิริโก”มั่นใจช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศไทย รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) ผู้นำด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator : SI) ครบวงจรรายแรกของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ในวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน), หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน  โดยมีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (2564-2569) ซึ่งหลังจากนี้ภาคีทั้ง 7 ฝ่าย จะตั้งคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของความร่วมมือต่อไป

สำหรับขอบเขตความร่วมมือมี 11 ข้อ ได้แก่ 1. พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2. สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา 3. ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 4. วิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน 5. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง

  1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ 7. จัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ
  2. สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content)ทดแทนการนำเข้า 9. ใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ 10. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 11. ร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง

“การเซ็นเอ็มโอยูของ 7 ภาคีเครือข่ายภาครัฐ สถานศึกษา และภาคเอกชนชั้นนำของไทยในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง AMR ในฐานะผู้นำด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่นครบวงจรรายแรกของไทย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลิต และพัฒนาระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”นายมารุต กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินโครงการระบบราง ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ระยะทาง 500 กม. จำนวน 14 เส้นทางซึ่งจะเปิดให้บริการครบปี 2570 โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” สนับสนุนพื้นที่อีอีซี เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมกับ สปป.ลาว (รถไฟไทย-จีน) รวมถึงรถไฟทางคู่ และแผนแม่บทโครงข่าย MR- Map ซึ่งจะมีระบบรถไฟควบคู่มอเตอร์เวย์ 10 เส้นทางทั่วประเทศ ระยะทางรวมประมาณ 6,500 กม. ซึ่งประเทศมีศักยภาพในทำเลที่ตั้งจะสามารถเป็นศูนย์กลางของการเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางรางในอาเซียนได้ ดังนั้น จึงต้องเตรียมการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp