“ดีพร้อม” หนุนเอสเอ็มอีไทยเข้าแพล็ตฟอร์ม MiT ผลักดันใช้สินค้าไทยในโครงการรัฐ-เมกะโปรเจคต์

32

มิติหุ้น – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย เมดอินไทยแลนด์ Made in Thailand : MiT (เอ็มไอที) ที่ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ
ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ที่ได้รับสัมปทานในโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่ง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ “ดีพร้อม” เข้าไปดำเนินการ
ใน 2 ด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรอง
ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพให้ธุรกิจมีศักยภาพยิ่งขึ้นคือ 1. ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม
ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เปิดรายชื่อสินค้าที่เข้าเกณฑ์เมดอินไทยแลนด์ เพื่อพิสูจน์แหล่งกำเนิดที่มาของสินค้า ไม่ใช่เพียงแค่มีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ต้องมีสินค้าที่ผลิตในประเทศ
และมีมาตรฐาน และ  2. พัฒนาระบบแซนด์บ็อกซ์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ พร้อมออกระเบียบภายใน
เพื่อกำหนดวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งระเบียบใหม่ ให้สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเข้าสู่ระบบโครงการ MiT ของ ส.อ.ท.

          “ปัจจุบันแซนด์บ็อกซ์จัดซื้อจัดจ้างของเอ็มไอทีถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร นับเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่รัฐจะช่วยเหลือภาคธุรกิจในยามวิกฤตเช่นนี้ได้ เพราะผลจากโควิด นอกจากผู้ติดเชื้อแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจ คืออีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เราช่วยผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินได้ด้วย MiT และเพื่อสนับสนุนสินค้าไทย” ดร.ณัฐพลกล่าว

          ทั้งนี้ ปัจจุบัน “ดีพร้อม” ได้ผลักดันผู้ประกอบการจากโครงการที่ผ่านการรับรอง MiT จาก ส.อ.ท. ไปแล้ว 16 ราย จำนวนสินค้า 280 รายสินค้า และมีแผนจะขอรับรองสินค้าเพิ่มกว่า 600 รายสินค้า คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยจากฐานข้อมูลล่าสุดของ ส.อ.ท. มีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองสินค้า MiT ไปแล้ว 2,500 ราย คิดเป็นประมาณ 20,000 รายสินค้า

          นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน “ดีพร้อม”ได้จัดทำไทยแลนด์ เท็กซ์ไทล์ แท็ก หรือการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม ในหมวดสินค้าสิ่งทอ เส้นด้าย เครื่องนุ่งห่ม ที่ได้คุณภาพ
และมาตรฐานสูงกว่าเงื่อนไขที่ MiT กำหนด เพราะนอกจากระบุถึงแหล่งผลิตแล้วยังระบุถึงคุณภาพสินค้าด้วยรูปแบบคล้ายกับการทำอีโค-สติ๊กเกอร์ในอุตสาหกรรม ซึ่งดูได้ในเรื่องของรถยนต์ ยางรถยนต์ ว่าผลิตในประเทศ หรือนำเข้า ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้มีการรายงานผลเข้ามาที่กระทรวงอุตสาหกรรม มี ร.ง.8 (แบบสำรวจข้อมูล
การผลิต) ร.ง.9 (แบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี) เพื่อเป็นการยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวเป็นเมดอินไทยแลนด์ 100%

          อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าผ่านโครงการ MiT จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือ
จากหน่วยงานต่างๆจากภาครัฐ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในโครงการเมกะโปรเจคต์ อาทิ งบสร้างถนนหลักหมื่นล้าน โครงการรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เชื่อว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือกันจริงจังจะสามารถทำให้มูลค่าจากสินค้า MiT เกิน 1 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 อาจต้องพิจารณาว่าแต่ละหน่วยงานจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากกรมบัญชีกลาง ได้ปรับระเบียบให้รัดกุมมากขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดย “ดีพร้อม” ก็ได้มีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดรับกับการส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้น
การใช้สินค้าภายในประเทศของหน่วยงานรัฐให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp