ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 16-20 ส.ค. 64 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 23-27 ส.ค. 64

56

มิติหุ้น – สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 16-20 ส.ค. 64 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 23-27 ส.ค. 64 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ตารางราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ [เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ]
  น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป
  เบรนท์
(ICE Brent)
   เวสท์เท็กซัสฯ
(NYMEX WTI)
ดูไบ (Dubai) เบนซิน
ออกเทน  95
     ดีเซล
ราคา 67.68 65.03 67.31 78.55 74.05
เปลี่ยนแปลง -2.92 -3.28 -2.48 -3.94 -2.59

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก         

  • อุปทานน้ำมัน OPEC+ ประกาศไม่เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามคำร้องของประธานาธิบดี Joe Biden แห่งสหรัฐฯ ที่ระบุว่าราคาน้ำมันที่สูงเกินไปจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งนี้ OPEC+ มีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยทยอยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน  ตั้งแต่เดือน ส.ค.- ธ.ค. 2564 ซึ่ง OPEC + ประเมินว่าเหมาะสมในการรองรับการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก
  • International Atomic Energy Agency (IAEA) รายงานว่าอิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมสู่ระดับ 60% เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 64 ที่ระดับ 20% (การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ต้องใช้ยูเรเนียมที่มีความบริสุทธ์ 90%) อิหร่านเดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์เนื่องจากการเจรจากับ P5+1 ยังไม่มีข้อสรุป และตอบโต้การก่อวินาศกรรมโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินที่เมือง Natanz ในเดือน เม.ย 64 ซึ่งทำให้ไฟฟ้าดับ ทั้งนี้การที่อิหร่านมียูเรเนียมสมรรถนะสูงขึ้นเป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการเจรจา
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. 64  ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 435.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 63 และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 33.6 ล้านบาร์เรล ลดลงต่อเนื่อง 10 สัปดาห์สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 61

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ     

  • ความกังวลต่อการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธ์ Delta ที่ขยายวงกว้างทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ล่าสุด รายงาน OPEC ฉบับเดือน ส.ค. 64 ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2564 จากคาดการณ์ครั้งก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 96.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน (อย่างไรก็ตามยังคงเพิ่มขึ้นจากปีก่อน  5.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ของ COVID-19 สายพันธ์ Delta โดยเฉพาะในจีน และประเทศในเอเชีย
  • บันทึกการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 27-28 ก.ค. 64 ระบุว่าภาคการจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวสู่ระดับปกติภายในปีนี้ และคณะกรรมการส่วนมากเห็นว่าควรปรับลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) จำนวน 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน ในปีนี้
  • สำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น ในเดือน ก.ค. 64 ลดลงจากปีก่อน 0.9% อยู่ที่ 13.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ พ.ค. 63
  • EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. 64  เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 1 เดือน

แนวโน้มราคาน้ำมัน   

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยบทวิเคราะห์ ราคาน้ำมันดิบลดลงจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธ์ Delta ทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ มีการแพร่ระบาดรุนแรงในรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ณ วันที่ 22 ส.ค. 64  Worldometers รายงาน สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 79,391 ราย สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 64 ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 สะสมของสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก อยู่ที่ 645,058 ราย ทั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนจะขยายเวลาข้อบังคับให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทางเครื่องบิน รถไฟ และรถบัส รวมถึงผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานและสถานีรถไฟ ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไปจนถึงวันที่ 18 ม.ค. 65 จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 13 ก.ย. 64 ขณะที่ นาย Robert Kaplan ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขา Dallas ซึ่งมีแนวคิดปรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระบุว่าหากสหรัฐฯ ควบคุมการระบาดสำเร็จ นาย Kaplan สนับสนุนให้ FED ประกาศลดปริมาณการซื้อพันธบัตรในเดือน ก.ย. 64 และเริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค. 64 พร้อมให้มุมมองว่าการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ COVID-19 สายพันธ์ Delta ส่งผลกระทบต่อการกลับเข้าทำงานในสำนักงาน ซึ่งอาจกระทบต่อการจ้างงานเนื่องจากกลัวการติดเชื้อ

ด้านอุปทานน้ำมัน Argus รายงาน Compliance Rate ของ OPEC + เดือน ก.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 109% (ลดลง 4% จากเดือนก่อน)  ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC เดือน ก.ค. 64 อยู่ที่ 26.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 637 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน) และ Compliance Rate ของ OPEC อยู่ที 116% (ลดลง 4% จากเดือนก่อน) โดยทางเทคนิคราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลง และจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 63.5 ถึง 67.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ให้ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ กลุ่ม Hezbollah กลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะห์เตือนสหรัฐฯ และอิสราเอลไม่ให้ขัดขวางเรือขนส่งน้ำมันเตาจากอิหร่านที่กำลังมุ่งหน้าไปเลบานอนที่ประสบปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงจากรัฐบาลประสบปัญหาไม่มีงบประมาณ

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp