ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ต้องติดตามประเด็นไหนบ้าง

335

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ทั้งยังมีหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่นักลงทุนรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันดีอยู่มากมาย เช่น Facebook, Google หรือ Amazon ดังนั้น จึงถือเป็นขุมทรัพย์การลงทุนขนาดใหญ่ ที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ

เมื่อมีโอกาสการลงทุนในหุ้นเติบโตของสหรัฐฯ คราวนี้ ลองมาดูกันบ้างว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะมีผลต่อการลงทุนในสหรัฐฯ ที่นักลงทุนควรติดตาม

เรื่องนี้ (น.ส.) ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง ระบุว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามมีอยู่ 4 เรื่อง คือ

1.นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

2.ติดตามเงินเฟ้อ

3.ดูการจ้างงาน

4.ติดตามการผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาคองเกรส

สำหรับ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นักลงทุนต้องจับตาว่า เฟดคิดอะไรอยู่ จะทำอะไรต่อไป เฟดมองตัวแปรไหนเป็นตัวชี้วัดประเมินผลงาน (KPI) โดยช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า การอัดสภาพคล่องซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงิน เป็นเหตุผลทำให้สภาพคล่องล้นตลาดจนเข้าสู่ตลาดทุน และทำให้ตลาดทุนเดินตามเกมนโยบายการเงินของเฟดอยู่ตลอด

ส่วนการติดตามเงินเฟ้อ เรื่องนี้ก็สืบเนื่องมาจากนโยบายการเงินของเฟดนั่นเอง เพราะ KPI อย่างหนึ่งของเฟด คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเฟดอยากเห็นเงินเฟ้อที่ 2% แต่เวลานี้ ถ้าดูตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนที่ออกมา แล้วคูณไป 12 เดือน จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อเกินกว่า 2% ไปมากแล้ว

อย่างไรก็ดี เฟดเคยออกมาบอกว่า จะยอมให้เงินเฟ้อเกิน 2% ได้ เพราะเข้าใจได้กับช่วงเวลานี้ที่ความต้องการสินค้าล้นตลาด เพราะอั้นไว้นานในช่วงที่ล็อคดาวน์จากโควิด-19 ดังนั้นก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า ถ้าเงินเฟ้อกลับมาสู่ระดับปกติ คือ ปรับขึ้นเดือนละ 0.2-0.3% แล้ว เฟดอาจกลับมาสนใจตัวชี้วัดนี้อีกครั้ง

เรื่องที่ต้องดูการจ้างงาน เพราะการจ้างงานเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นช้ากว่าตัวอื่นๆ จะเรียกว่าเป็นตัวชี้วัดท้ายสุดที่จะปรับขึ้นก็ได้ ซึ่งปกติแล้ว นโยบายการเงินที่ดีจะต้องรอให้เครื่องชี้เศรษฐกิจขยายตัวให้ครบก่อน จึงจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น เฟดเองก็น่าจะรอดูการจ้างงานก่อน หากดีขึ้นแล้ว จึงพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ

เมื่อไม่นานมานี้ มีการประกาศการจ้างงานนอกภาคเกษตรรอบล่าสุด เกิดการจ้างงานกว่า 9 แสนตำแหน่ง ทำให้ตำแหน่งที่ยังขาดคนลดลงไปเรื่อยๆ

ในช่วงเกิดโควิดนั้น ตำแหน่งงานหายไปกว่า 20 ล้านตำแหน่ง ในช่วงเวลานี้ตำแหน่งงานถูกเติมเต็มเพิ่มมากว่า 5 ล้านตำแหน่ง หากคำนวณต่อไปในระยะข้างหน้าแล้ว ถ้าจำนวนตำแหน่งงานเพิ่มในระดับ 8-9 แสนตำแหน่งต่อเดือน การจ้างงานก็น่าจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดในอีก 8-10 เดือนข้างหน้า

เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องมาจับตาดูว่า เฟดจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินหรือไม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565

ส่วนการลดหรือชะลอซื้อสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่เรียกว่า ทำ taper นั้น ไม่อยากให้นักลงทุนไปกังวลกับประเด็นนี้มาก เพราะการทำ taper ไม่ได้แปลว่า ลดอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง คงระดับไว้ก็ได้ ซึ่งกว่าที่เราจะเห็นการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ เฟดจะต้องแน่ใจก่อนว่า สถาบันการเงินที่นำสินทรัพย์มาขายให้จะอยู่ได้ และคงต้องเห็นอัตราดอกเบี้ยไต่ขึ้นไปช่วงหนึ่งก่อนจึงจะเห็นการลดซื้อสินทรัพย์เกิดขึ้น

สุดท้ายคือ การผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาคองเกรส เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่การเมืองเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในโลก จึงต้องมีการลงคะแนนเสียงและต่อรองกันในสภา ซึ่งโดยปกติแล้ว ประธานาธิบดีไม่ใช่คนที่มีความสำคัญมากๆ ในสภาคองเกรส คนที่สำคัญสุด คือ ประธานสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ซึ่งก็คือ ชัค ชูมเมอร์ กับแนนซี่ เพโลซี

เวลาจะผลักดันนโยบายอะไรให้ผ่านสภาคองเกรส ต้องผ่านทั้ง สส. สว. ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้ เสี่ยงส่วนมากต้องเป็นเดโมแครตชนะ

หากพิจารณาภาพในครั้งที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี ก็มีการผลักดันนโยบายด้านสุขภาพ Obama care สำเร็จ เพราะเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา แต่ฝันดีของโอบามานั้นมีรอบเดียว เพราะในรอบสุดท้ายของสภา คือ ช่วงเทอมที่ 2 โอบามา เป็นประธานาธิบดีเสียงข้างน้อย ไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรได้เลย เมื่อนำมาเทียบกับไบเดนในรอบนี้ แปลว่า ในช่วง 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง 2 ปีแรก ซึ่งเป็นเทอมแรก ไบเดนจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผลักดันนโยบายการคลังออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะตอนนี้ยังครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาอยู่

ปัจจุบันนโยบายที่ผลักดันสำเร็จมีอย่างเดียว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องโควิด มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน Build Back Better แผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน

แต่นโยบายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันทางอุตสาหกรรม เน้นหนักที่กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และกฎหมายลูกเกี่ยวกับชิปยังค้างอยู่ในสภา ยังผลักดันไม่สำเร็จ หากนโยบายนี้ผลักดันสำเร็จจะมีมูลค่าหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ และยานยนต์ได้อานิสงส์

นอกจากนี้ ใน Build Back Better ยังมีอีก 2 เรื่องที่ยังไม่ได้ผลักดันให้สำเร็จ คือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานและพ.ร.บ. ว่าด้วยเรื่องครอบครัวสหรัฐฯ ที่มีเรื่องให้การศึกษาเด็ก ซึ่งถ้าผลักดันได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มก่อสร้าง เป็นต้น

ทั้งนี้ (น.ส.) ดร.มิ่งขวัญ แนะนำว่า ถ้าตัดเรื่องทิศทางนโยบายการเงินออกไป แล้วไปดูผลตอบแทนที่หุ้นสหรัฐฯ ทำได้ต่อปี จากข้อมูลในอดีต พบว่า มีน้อยปีมากๆ ที่ผลตอบแทนจากหุ้นสหรัฐฯ ติดลบ ภาพรวมส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่ดีหลายปีติดต่อกัน ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็เชื่อว่า ผู้จัดการกองทุนสามารถหากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นั้นๆ ได้

นี่คือ คำแนะนำจากนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนบัวหลวง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว หากสนใจลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กองทุนบัวหลวงก็มีกองทุนน้องใหม่ชื่อว่า กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่า (B-USALPHA) ที่กำลังเปิดขาย IPO วันที่ 17-24 ส.ค. นี้ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์กองทุนบัวหลวง