มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ Weekly Investment View วันที่ 2-6 ส.ค.ุ64 โดย Wealth Advisory by CIMB Thai Bank

29
มิติหุ้น – ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนผู้ติดโรคภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นแตะระดับกว่า 18,000 ต่อวัน ประกอบกับการขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วันและได้มีการเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดงเข้มจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมายังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปิดที่ระดับ 1,521.92 จุด ทั้งนี้การแพร่ระบาดยังได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกหลังจากที่พบผู้ติดเชื้อในโรงงานเกือบ 500 แห่ง คิดเป็นจำนวนกว่า 35,000 ราย ทำให้โรงงานหลายแห่งต้องหยุดการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการล็อกดาวน์จากทางภาครัฐยังคงหนุนให้เกิดการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้กลุ่ม ICT ยังคงสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือกว่าตลาดได้เป็นสัปดาห์ที่2 ดังนั้นตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ที่ชัดเจน ส่งผลให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยอาจต้องชะลอการลงทุนและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ตลาดหุ้นต่างประเทศ

ตลาดหุ้นทั่วโลกส่งสัญญาณชะลอตัวนำโดยหุ้นฝั่งเอเชียจากการที่ทางการจีนได้ดำเนินนโยบายควบคุมการจัดระเบียบบริษัทชั้นนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้ประกาศปรับเปลี่ยนบริษัทสถาบันการศึกษานอกเวลาให้เป็นบริษัทไม่แสวงหากำไร ทำให้นักลงทุนเกิดแรงเทขายกดดันหุ้นในจีนรวมถึงกลุ่มภูมิภาคเอเชียเช่นกัน ในขณะที่ทางฝั่งสหรัฐฯ นั้นปรับตัวลดลงเล็กน้อยท่ามกลางความกังวลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 2/2021 ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและทางธนาคารกลางสหรัฐฯ เองยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายทางการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป เราเชื่อว่าการพักฐานน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและยังคงแนะนำให้ทยอยสะสมในหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นกลุ่มเติบโตที่น่าจะกลับมาทำได้ดีในช่วงหลังจากนี้

 
ตลาดตราสารหนี้

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวลง 5.40 bps สู่ระดับ 1.224 % ผลตอบแทนพันธบัตรยังคงมีการปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หลังมีการเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 1.745% ในช่วงปลายเดือน มี.ค. เนื่องจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มกลับมารุนแรงมากขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงการคลายความกังวลต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยในการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดนั้น เฟดยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป แต่เริ่มส่งสัญญาณการตั้งเกณฑ์ในการพิจารณาเริ่มดูดสภาพคล่องออกจากระบบ (QE Tapering) ยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค. ปิดที่ 1,817.2 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.85% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำปรับตัวบวกระหว่างสัปดาห์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์ สรอ./เดือน ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงหนุนราคาทองคำ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้ปัจจัยบวกจากการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2/2021 ของสหรัฐฯ ที่ระดับ 6.5% แย่กว่าคาดการณ์ที่ระดับ 8.5% แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย. ปิดที่ 73.95 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.61% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง EIA เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 4.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2020 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล สะท้อนว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมันเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC และ OPEC+ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น แนะนำแบ่งขายทำกำไรที่ระดับ 75 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล หากราคามีการปรับตัวขึ้นมา

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวลดลงสอดคล้องกัน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศยังคงทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้มีการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์ สรอ./เดือน ส่งผลให้มีแรงกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรมากขึ้น ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ทรงตัวใกล้เคียงระดับเดิม โดยการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศและการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งยังคงเป็นปัจจัยหนุนกลุ่ม REIT ใน

 
Asset Allocation
การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้

ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ในขณะที่หุ้นจีนยังคง Underperform ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและดัชนี CSI300 ปรับลดลงร้อยละ 5.46 ในสัปดาห์ก่อนหน้า จากแรงขายของนักลงทุนหลังจากประเด็นเรื่องของความพยายามควบคุมและจัดระเบียบบริษัทชั้นนำต่างๆ ยังมีต่อเนื่อง โดยล่าสุดกับความพยายามที่จะเปลี่ยนสถาบันการศึกษาและกวดวิชาให้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และยังมีการปรับเงินบริษัทต่างๆ ในเรื่องของการผูกขาดสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง และการปรับตัวลดลงของหุ้นจีนก็มีส่วนต่อการกดดันหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วย เสริมจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเร่งตัวของการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และยุโรปยังออกมาในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้ในหลักทรัพย์บางตัวอาจจะต่ำจากที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ทำให้ราคาปรับตัวลดลง แต่โดยรวมยังคงสะท้อนแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผลกำไร โดยล่าสุดจากข้อมูลของ FactSet สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ค. มีบริษัทรายงานผลประกอบการแล้วร้อยละ 59 และจำนวนของบริษัทจดทะเบียนที่มีการงานผลกำไรต่อหุ้นที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ถึงร้อยละ 88 มากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีล่าสุดที่ร้อยละ 75 และกำไรโดยรวมที่สูงกว่าที่นักวิเคราห์คาดไว้ถึงร้อยละ 17.2 เทียบกับค่าเฉลี่ยห้าปีที่ร้อยละ 7.8 นำโดยกลุ่ม Healthcare, Information Technology และกลุ่ม Consumer Staple ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ยังคงเป็นบวกและน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในระยะยาว
เรามองว่าความเสี่ยงต่อการปรับฐานในระยะสั้นยังคงมีต่อเนื่องจากเรื่องของการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของแรงกดดันในหุ้นจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวม แม้ในระยะยาวเรายังเชื่อว่าตลาดหุ้นยังน่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่ยังดี อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และสภาพคล่องที่ยังสูง ทำให้ในระยะสั้นยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน กระจายความเสี่ยงไปยังหลายภูมิภาคและอุตสาหกรรม และรอจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับฐานเพื่อปรับสัดส่วนของพอร์ตฟอลิโอการลงทุน เรายังคงคำแนะให้ทยอยสะสมกองทุนที่ให้ผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นในระยะยาว ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG-RA) ในขณะที่กองทุนยุโรปก็ยังคงน่าสนใจในฐานะของการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอการลงทุน โดยในกลุ่มยุโรปเรายังคงแนะนำกองทุน KT-EURO ในขณะที่แนะนำให้ชะลอการลงทุนในจีนเช่นกองทุนเปิดกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไชน่า อิควิตี้ (MCHINAGD) และเวียดนาม (Principal VNEQ-A) เพื่อรอดูสถานการณ์เพิ่มเติม

ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้ติดตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสำคัญในไตรมาสสองต่อเนื่อง นำโดย Walt Disney, eBay, Baidu, Foxconn และ NetEase รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ และกลุ่มดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Manufacturing PMI) ของประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่สามารถสะท้อนแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจข้างหน้าได้ นอกจากนั้นยังต้องจับตาดูแนวโน้มของตลาดหุ้นจีนและนโยบายต่างๆ ของทางการ รวมถึงมุมมองของนักวิเคราะห์ต่างๆ ต่อตลาดหุ้นจีนที่ยังคงปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดอื่นๆ ในขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯ จะมีการหารือถึงประเด็นร่างกฎหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในสัปดาห์นี้เช่นกัน

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp