ซีพีเอฟ เดินหน้า 3 ประสาน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ”เขาพระยาเดินธง” หนุนจ้างงานชุมชนต่อเนื่อง มีรายได้ ช่วงโควิด-19

52
มิติหุ้น – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือกรมป่าไม้ และชุมชนในพื้นที่ สานต่อ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ระยะที่สอง (ปี 2564-2568) อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ  7,000 ไร่  ปลูกฝังพนักงานรู้คุณค่าของต้นไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ  หนุนจ้างงานชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้นแบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมดูแลรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน
นายภาณุวัตร  เนียมเปรม  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ  ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง  กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยกรมป่าไม้ ชุมชน และซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”ระยะที่หนึ่ง (ปี 2559-2563) ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก  5,971 ไร่ เดินหน้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2564-2568) ขยายพื้นที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มอีก 1,000 ไร่ หรือเพิ่มเป็น 6,971 ไร่ พร้อมกันนี้ ตั้งเป้าหมายเพาะกล้าไม้เพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มเติมอีกประมาณ  230,000 กล้า ทำกิจกรรมปลูกซ่อม บำรุงรักษา สร้างฝายชะลอน้ำ กำจัดวัชพืช และทำแนวกันไฟ อย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายหลักของโครงการฯระยะที่สอง ใน 5 ปีข้างหน้า จะส่งเสริมให้ผืนป่าที่นี่เป็นห้องเรียนธรรมชาติ  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ติดตาม ดูแล เพื่อให้เป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้จ้างงานชุมชนในพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนดูแลป่า  อาทิ เตรียมกล้าไม้ เพาะและบำรุงรักษากล้าไม้  ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้  กำจัดวัชพืช ฯลฯ เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
“สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัจจัยท้าทายที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งต่อมนุษย์และสัตว์  ด้วยการช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีเอฟปลูกฝังการมีส่วนร่วมของพนักงานจิตอาสา และชุมชน ร่วมกันฟื้นฟูฝืนป่า รวมทั้งจะเชิญลูกค้าและคู่ค้า ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าด้วย ” นายภาณุวัตร กล่าว
นายภาณุวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า  การดำเนินโครงการฯในระยะที่สอง ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายชุมชนรอบพื้นที่ร่วมมือปกป้องผืนป่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี  สานต่อโครงการสนับสนุนชุมชนปลูกผักวิถีธรรมชาติ ปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองและนำผลผลิตผักไปขาย สร้างรายได้เสริม จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามวิถีภูมิปัญญาชุมชนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ขยายพันธุ์สำหรับเพาะปลูกและแจกจ่ายชาวบ้าน และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน ให้ความรู้เรื่องการอนุบาลปลาแก่ชุมชนก่อนปล่อยลงกระชัง ช่วยเพิ่มอัตรารอดของปลาที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่มีอาชีพประมง โดยซีพีเอฟสนับสนุนเงินทุนตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนของโครงการ
ซีพีเอฟ  ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน  “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่” ซึ่งโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ทั้ง 3 เสาหลัก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง และสร้างความมั่นคงทางอาหาร  นอกจากนี้  ยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)  ข้อ 2  การขจัดความหิวโหย  ข้อ 13  การดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ   ข้อ 15  การปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน และข้อ 17การสร้างความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน./