การ์ทเนอร์คาดการณ์ ภายในสิ้นปีนี้ กว่าครึ่ง (51%) ของพนักงานทั่วโลกที่เน้นทักษะความรู้จะทำงานระยะไกล”

59

มิติหุ้น – การ์ทเนอร์ประเมินว่าภายในสิ้นปี 2564 พนักงานที่ทำงานระยะไกล (Remote Workers) จะมีสัดส่วนเป็น 32% ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2562 โดยการ์ทเนอร์ได้ให้คำจำกัดความของพนักงานใช้ทักษะความรู้ หรือ Knowledge Workers ว่าเป็นผู้ที่ต้องใช้ความรู้หรือทักษะด้านวิชาชีพเป็นหลัก อาทิ นักเขียน นักบัญชี หรือ วิศวกร เป็นต้น และยังให้ความหมายของพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในสำนักงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือที่หน้างานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ว่าเป็นพนักงานกลุ่มไฮบริด (Hybrid Workers) กับพนักงานที่ต้องทำงานระยะไกลเต็มตัว (Fully Remote Workers)

มร. แรนจิท แอทวัล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “แรงงานกลุ่มไฮบริดคืออนาคตของโลกการทำงานทั้งการทำงานระยะไกล (Remote) และการทำงานในสถานที่ต่าง ๆ (On-site) ล้วนเป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบโจทย์ความจำเป็นด้านแรงงานของนายจ้าง”

รูปแบบการทำงานระยะไกลขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ วัฒนธรรมและการผสมผสานของอุตสาหกรรม คาดว่าในปี 2565 31% ของการทำงานของพนักงานทั่วโลกจะเป็นการทำงานระยะไกล (ที่ผสมผสานกันระหว่างแบบไฮบริดและแบบเต็มเวลา) โดยในปี 2565 สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้นำกลุ่มพนักงานระยะไกลที่มีสัดส่วนสูงถึง 53% ของแรงงานในอเมริกาทั้งหมด ส่วนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป คาดว่าสหราชอาณาจักรจะมีสัดส่วนของพนักงานระยะไกลที่ 52% ขณะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสมีสัดส่วนที่ 37% และ 33% ตามลำดับ

อินเดียและจีนเป็นสองประเทศที่จะผลิตพนักงานระยะไกลเพิ่มจำนวนมากที่สุด แต่อัตราการเติบโตโดยรวมยังค่อนข้างต่ำ โดยอินเดียอยู่ที่ 30% จีนอยู่ที่ 28%

ผลกระทบการจัดหาและนำเทคโนโลยีไปใช้งานจนถึงปี 2567

ผลกระทบจากการทำงานระยะไกลกำลังส่งผลให้มีการประเมินโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีจากความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ซื้อที่ต้องการทำงานได้จากทุกที่ มร. แอทวัล กล่าวว่า “ตลอดปี 2567 องค์กรต่าง ๆ จะถูกบังคับให้ต้องเตรียมแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่ดิจิทัลภายในห้าปีเป็นอย่างน้อย โดยแผนจะต้องปรับให้เข้ากับโลกยุคหลังโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระยะไกลและเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัลรอบด้าน”  โดยผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านขององค์กร ในแผนระยะยาวจำเป็นต้องมีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อดำเนินการจัดเตรียมเทคโนโลยีสำหรับใช้ทำงานระยะไกลเป็นอันดับแรก รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ไฮเปอร์ออโตเมชั่น, AI และเทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในด้านสถานที่และบทบาทการทำงาน

การทำงานแบบไฮบริดจะเพิ่มความต้องการพีซีและแท็บเล็ตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2564 จะมีการจัดส่งพีซีและแท็บเล็ตสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 500 ล้านเครื่อง ซึ่งตอกย้ำถึงความต้องการของทั้งตลาดในกลุ่มองค์กรธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค

องค์กรต่าง ๆ ยังได้นำระบบคลาวด์มาปรับใช้เพื่อเร่งการเปิดใช้รูปแบบการทำงานระยะไกลให้มีความรวดเร็วมากขึ้น การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2564 มูลค่าการใช้จ่ายของผู้ใช้บริการคลาวด์สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 23.1% เนื่องจากซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชันบนคลาวด์ เช่น การให้บริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) แอปพลิเคชันแบบ SaaS ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการทำงานระยะไกลและพนักงานสามารถเข้าถึงได้จากทุกสถานที่ การติดต่อสื่อสารทางสังคมและเครื่องมือการทำงานร่วมกันยังเป็นสิ่งที่ “ขาดไม่ได้” ซึ่งทำให้ตลาดซอฟต์แวร์เพื่อการสื่อสารทางสังคมและเพื่อการทำงานร่วมกันทั่วโลกมีรายได้เพิ่มขึ้น 17.1% ในปี 2564

หลายองค์กรต้องเปลี่ยนและปรับใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อหลายอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้แม้พนักงานต้องทำงานระยะไกล และภายในปี 2567 การเข้าใช้งานเทคโนโลยีการทำงานระยะไกลทั้งหมดอย่างน้อย 40% จะผ่านระบบเครือข่ายแบบ Zero Trust Network Access (ZTNA) โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ต่ำกว่า 5% ณ สิ้นปี 2563 ขณะที่องค์กรส่วนใหญ่จะยังให้บริการลูกค้าผ่านระบบเครือข่าย VPN โดย ZTNA จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนหลัก

 

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp