มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 12-16 ก.ค.64 โดยทีม Wealth Advisory by CIMB Thai Bank

51
มิติหุ้น – ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ๆ ก่อนจะปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ดีดตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับกว่า 9,000 รายต่อวัน รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ ส่งผลให้ทางภาครัฐได้มีการยกระดับมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านการจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และสั่งปิดสถานที่มากมาย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานได้รับแรงกดดันจากประเด็นดังกล่าว ขณะที่การพิจารณาการเก็บภาษีจากมูลค่าการซื้อขายหุ้น 0.11% จากกรมสรรพากร สำหรับนักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อเดือนเกิน 1 ล้านบาทยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของสกุลเงินบาทได้ส่งผลเชิงบวกต่อกลุ่มเกี่ยวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยกดดันอยู่อีกมาก เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ประกอบกับปัจจัยหนุนที่จำกัด ส่งผลให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นดังกล่าวอาจต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรอจังหวะการลงทุนในระยะต่อไป
 
ตลาดหุ้นต่างประเทศ
ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความกังวลของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวนั้นชะลอตัวลงได้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากลุ่มประเทศอื่น ๆ จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ทำให้มีแรงกลับเข้าซื้อในหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นกลุ่มเติบโต ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในหลายประเทศยังยืนยันที่จะคงนโยบายทางเศรษฐกิจเชิงผ่อนคลายต่อไปและพร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหากจำเป็น เราเชื่อว่าการพักฐานน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นและยังคงแนะนำให้ทยอยสะสมในหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นกลุ่มเติบโตที่น่าจะกลับมาทำผลตอบแทนได้ดีหลังจากนี้

ตลาดตราสารหนี้
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัว -6.60 bps โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรมีการปรับตัวลงคือความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย ส่งผลให้นักลงทุนทำการย้ายเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยเป็นในเรื่องของการเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดการณ์ ทั้งดัชนี PMI ภาคการบริการเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ยังคงมองว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ได้ในช่วงนี้ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ
 
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1,810.6 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.53% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์มากสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 74.56 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวลดลง 0.80% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์แรกหลังกลุ่ม OPEC และ OPEC+ ประสบความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ EIA ประกาศออกมาลดลงถึง 6.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรล สะท้อนถึงปริมาณการใช้น้ำมันที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า แนะนำแบ่งขายทำกำไรที่ระดับ 75 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวลดลงสอดคล้องกัน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าระลอกใหม่ในหลายประเทศเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรอีกครั้ง นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตามองตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ทรงตัว มีเพียง TH REITs และ AUS REITs ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 bps และ 46 bps ตามลำดับหลังตลาดมีการปรับฐานลงมาจากการประกาศล็อกดาวน์เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ภายในประเทศรวมถึงความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ขณะที่ราคาบ้านในสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม Yield Spread ของ REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

 
Asset Allocation

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้
ตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงให้ผลตอบแทนดีกว่ากลุ่มประเทศอื่น โดยนักลงทุนขานรับกับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. ที่ยังคงสะท้อนให้เห็นว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเมื่อการจ้างงานฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และจะปล่อยให้เงินเฟ้อเกินเป้าหมายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตามภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ยังมีแรงกดดันต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเริ่มสร้างความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ในขณะที่มีแรงเทขายหุ้นจีนขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากทางการจีนสั่งถอดแอปพลิเคชัน Didi ออกจากการดาวน์โหลดในร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยอ้างว่ามีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างผิดกฎหมาย และมีการสั่งสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เพิ่มเติม สะท้อนความพยายามของภาครัฐฯ ในการจัดระเบียบหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการผูกขาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมของหุ้นในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเพิ่มเติม
เรามองว่าความเสี่ยงต่อการปรับฐานของตลาดหุ้นสูงกว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา จากปัจจัยทั้งในเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลง ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นโยบายการเงินการคลังที่นักลงทุนรับรู้หมดแล้ว และปัจจัยเรื่องของความเสี่ยงของนโยบายต่างๆ  เรามองว่าในระยะข้างหน้าตราสารทุนยังน่าจะให้ผลตอบแทนโดนเด่น แต่ในระยะสั้นอาจต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยยังคงให้หาจังหวะทยอยสะสมกองทุนที่ให้ผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นในระยะยาว ได้แก่ กองทุน ONE-UGG-RA หรืออาจหันกลับไปลงทุนหุ้นคุณภาพผ่านกองทุนเปิด TMBGQG โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดปรับฐานลงมาบ้าง ในขณะที่ฝั่งเอเชียยังคงแนะนำกองทุน Principal VNEQ-A เป็นหลัก โดย หากตลาดมีการปรับฐานจริง เรายังมองว่ากองทุนทั้งสองยังมีความน่าสนใจ เติบโตได้ดีในระยะยาวและเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมในช่วงเวลาดังกล่าว

สัปดาห์นี้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ และตัวเลข GDP ไตรมาสที่สองของจีน รวมถึงดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศหลักต่างๆ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ โดยจะเริ่มด้วยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังต้องติดตามการประชุมของ รมว. คลังของกลุ่ม G-20 ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นรวมถึงเรื่องของ Global Minimum Tax Rate ต่อเนื่องจากการประชุม G-7 ในช่วงก่อน ซึ่งคาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็วๆ นี้ และอาจจะมีผลเริ่มต้นในปี 2023

🚩🚩ห้อง Official Line ห้องไลน์ฟรี มิติหุ้น ทันทุกสถานการณ์การลงทุน หุ้นเด่น หุ้นเด็ดตลอดวัน กับห้องไลน์ @mitihoonwealth ห้องไลน์ที่นักลงทุนเข้าเป็นสมาชิกฟรี ไม่มีเงื่อนไข เพียงคลิกลิงค์นี้ก็เข้าได้เลย และสามารถส่งต่อให้เพื่อนได้

https://lin.ee/cXAf0Dp