รายงาน : จับทางรัฐรีดภาษีขายหุ้น พาSETป่วนขนาดไหน?

1476

ทันทีที่มีการรายงานข่าวว่า ไทยกำลังพิจารณาการกลับมาเก็บภาษีรายรับ จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ทำให้มีกระแสโต้กลับจากมวลชนคนเทรดหุ้นกันอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะในช่องทางออนไลบน์ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีทั้งกระแสบวกและลบ และหลากหลายมุมมอง

สำหรับ บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS ได้ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า กระแสข่าวที่ว่า ไทยกำลังพิจารณากลับมาเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ อัตรา 0.11% สำหรับนักลงทุนที่มูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ตามที่แหล่งข่าวต่างประเทศทั้ง Bloomberg และ Reuters รายงานนั้น

ชี้สามารถทำได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ประเด็นดังกล่าว ASPS พบว่า ไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ในอัตรา 0.1% อยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534–ปัจจุบัน ภาครัฐจึงสามารถพิจารณากลับมาจัดเก็บภาษีได้ หากต้องการขยายฐานภาษี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาท่าทีจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพบว่า ส่วนใหญ่ยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม (แต่ก็ไม่ปฏิเสธแนวคิด) เช่น นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ากระทรวงการคลังกำลังพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีในตัวใดบ้าง แต่ยืนยันระบบภาษีที่ปรับปรุงจะต้องส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน, ทันสมัย, มีประสิทธิภาพ, เป็นธรรม, และทั่วถึง ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการ ตลท.  เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ขอออกความคิดเห็นกรณีดังกล่าว เนื่องจากไม่มีอำนาจตัดสินใจ

ทั้งนี้ หากภาครัฐกลับจัดเก็บภาษีจริง ASPS คาดว่าจะส่งให้รัฐมีรายได้เพิ่ม และกระทบตลาดฯ ดังนี้

1.รายได้รัฐจะเพิ่มปีละประมาณ 1- 2 หมื่นล้านบาท (ถ้ามูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต) คือ ในปีปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยราว 2-3 ล้านบาท/เดือน หากรัฐเรียกเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาท/เดือน แสดงว่านักลงทุนประเภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี

— ในเบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ในช่วง 1H64ตลาดฯมีมูลค่าซื้อขาย (คิดขาเดียว) รวม 11.3 ล้านล้านบาท (ytd) เมื่อคูณอัตราภาษี 0.11% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท (ถ้าทำเป็นทั้งปีก็สูงเกิน 2 หมื่นล้านบาท) และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีต พบว่า ส่วนใหญ่แล้วรัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

2.ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการ Trading ลดลง จาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร

3.มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นดังกล่าวนี้ หากรัฐปฏิบัติจริงถือว่ากดดันตลาดหุ้นพอสมควร ทั้งในมุมผลตอบแทน และมูลค่าซื้อขายที่ลดลง

สำหรับ ASPS มองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะยังไม่นำมาใช้จริงในช่วงเวลาอันสั้น