ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 11 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น

737

มิติหุ้น-ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 11 ราย กรณีขายหุ้นบริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน) (PHOL) และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ (PHOL-W1) โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น และให้ผู้กระทำความผิดใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 34,607,152 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้ง 11 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บุคคลจำนวน 11 ราย ได้แก่ (1) นายพรศักดิ์ ชุนหจินดา (ขณะกระทำผิดดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบัญชีและการเงิน PHOL และกรรมการบริษัท

ผล วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. PHOL และรับผิดชอบบริหารจัดการในโครงการประปาชุมชน)

(2) นายธีรเดช จารุตั้งตรง (ขณะกระทำผิดดำรงตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง และที่ปรึกษาโครงการประปาชุมชน) (3) นายชวลิต หวังธำรง (ขณะกระทำผิดดำรงตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. PHOL และกรรมการบริษัท ผล วอเตอร์ จำกัด) (4) นายอภิชาติ จารุตั้งตรง (5) นางเสาวนีย์ ชุนหจินดา

(6) นางสาวศิริภรณ์ ชุนหจินดา (7) นายประเสริฐ จารุตั้งตรง (8) นางธนิดา จารุตั้งตรง (9) นางสาวธัญธิดา เฮลบาร์ธ (เปลี่ยนนามสกุลจาก หวังธำรง) (10) นางสาวสวณี ชุนหจินดา และ (11) นางสุภาพร เลิศวรธรรม ได้อาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น

นายพรศักดิ์ นายธีรเดช และนายชวลิต ซึ่งเป็นผู้บริหารและกรรมการของ PHOL ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานในโครงการที่ PHOL ทำกับคู่สัญญา ซึ่งทำให้บริษัทต้องรับภาระค่าปรับ และมีผลกระทบกับผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2559 ของ PHOL ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 48.49 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน

ในระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 นายพรศักดิ์และนายชวลิตได้ขาย PHOL-W1 ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ขณะที่นายธีรเดชได้ขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายอภิชาติ นอกจากนี้ นายพรศักดิ์ นายธีรเดช และนายชวลิต ยังได้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่เครือญาติรวม 5 ราย ได้แก่ นางเสาวนีย์ นางสาวศิริภรณ์ นายประเสริฐ นางธนิดา และนางสาวธัญธิดา ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวได้ขายหุ้น PHOL และ/หรือ PHOL-W1 และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังพบว่า นางสาวสวณีซึ่งเป็นพี่สาวของนายพรศักดิ์ และนางสุภาพรซึ่งเป็นพี่สาวของนายชวลิตได้ขายหุ้น PHOL และ/หรือ PHOL-W1

ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการขายโดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในด้วย  ทั้งนี้ การขายหุ้น PHOL และ/หรือ PHOL-W1

ของผู้กระทำผิดดังกล่าวข้างต้น เป็นการหลีกเลี่ยงผลขาดทุนก่อนที่ข้อมูลภายในจะเปิดเผยต่อสาธารณชน

การกระทำของบุคคลทั้ง 11 รายดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ มาตรการที่เป็นตัวเงินประกอบด้วย ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้

(1) กรณีนายพรศักดิ์ ขาย PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นเป็นการ

ฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) และมาตรา 242(2) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 1,051,366 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 14 เดือน

(2) กรณีนายธีรเดช ขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) มาตรา 242(2) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 10,535,133 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 20 เดือน

(3) กรณีนายชวลิต ขาย PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) และมาตรา 242(2) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 4,770,358 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 14 เดือน

(4) กรณีนายอภิชาติ ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายธีรเดชในการขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 และยินยอมให้นายธีรเดชใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242(1) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 542,271 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 6 เดือน

(5) กรณีนางเสาวนีย์ ขาย PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(5) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 589,524 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

(6) กรณีนางสาวศิริภรณ์ ขายหุ้น PHOL โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(4) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 889,653 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

(7) กรณีนายประเสริฐ ขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(4) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 1,374,196 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

(8) กรณีนางธนิดา ขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(5) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 568,146 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

(9) กรณีนางสาวธัญธิดา ขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(3) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 12,733,063 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

(10) กรณีนางสาวสวณี ขายหุ้น PHOL โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(4) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 765,620 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

(11) กรณีนางสุภาพร ขายหุ้น PHOL และ PHOL-W1 โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 244(4) ค.ม.พ. กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เป็นตัวเงินรวมจำนวน 787,822 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนาม

ในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตรา

ที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

https://lin.ee/cXAf0Dp