มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ 21-25 กค 64 _Wealth Advisory โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

62
มิติหุ้น – ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวลดลงหลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยปิดที่ระดับ 1,612.98 จุด ซึ่งยังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่เข้ามาแต่ยังคงมีความล่าช้า ในขณะที่กลุ่มรับเหมาได้มีแรงขายออกมาหลังจากที่หุ้นในกลุ่มนี้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการประมูลงานจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้การที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้มีแผนที่จะเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน อาจส่งผลในเชิงบวกต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหุ้นในกลุ่ม Re-opening อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนภายในประเทศที่จะเป็นตัวเร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยอาจต้องชะลอการลงทุนในตลาดดังกล่าวออกไปก่อนในช่วงนี้จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการแจกจ่ายวัคซีนที่ยังคงล่าช้า รวมถึงการที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้มีปัจจัยหนุนใหม่ ๆ ที่ชัดเจนเข้ามา และสำหรับนักลงทุนที่ยังมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย อาจอาศัยจังหวะการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยในการทยอยขายเพื่อทำกำไรและลดสัดส่วนการลงทุนลง
ตลาดหุ้นต่างประเทศ
ผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของดอกเบี้ย หลังจากผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดจากเดิมในปี 2024 จากการประชุมในเดือน มี.ค. เป็นอย่างน้อยสองครั้งในปี 2023 และคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าคาด ทำให้ตลาดเกิดแรงเทขายทำกำไรลงมาหลังตลาดโดยรวมปรับตัวอยู่ในระดับใกล้จุดสูงสุดในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปตลาดได้ทำจุดสูงสุดใหม่ช่วงกลางสัปดาห์ก่อนปรับตัวลงจากปัจจัยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน เรายังคงมองว่าตลาดยุโรปน่าจะเติบโตได้อยู่เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฐจักรขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหุ้นในฝั่งยุโรปเนื่องจากมูลค่าพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
 
ตลาดตราสารหนี้
ผลตอนแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวลง 1.5 bps สู่ระดับ 1.438 % โดยระหว่างสัปดาห์ ผลตอบแทนพันธบัตรมีการดีดตัวขึ้นหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากความกังวลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจเกิดเร็วขึ้น แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์ ผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวลดลงจากแรงซื้อกลับของนักลงทุน หลังดัชนี US 10 Year Breakeven Inflation มีการปรับตัวลดลง ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนที่น้อยลงต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1.865.9 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวลดลง 6.04 % เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ดีดตัวขึ้น และจากการที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 มิ.ย. ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากแรงเทขายทำกำไรหลังจากปรับตัวบวกมาอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาจะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและมองว่าน่าจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 72.29 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ภายในสิ้นปีหน้า โดยคาดว่าอุปสงค์จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 100.6 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ทาง Goldman Sachs ได้เปิดเผยว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง สะท้อนจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 96.5 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่า จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 99 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ส.ค. นี้ แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน โดยมีเป้าหมายราคาที่ระดับ 74 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวลดลงสอดคล้องกัน แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมายังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ก็ตาม บ่งบอกว่านักลงทุนไม่ได้กังวงเรื่องเงินเฟ้อเท่าช่วงก่อนและมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นน่าจะเป็นภาวะชั่วคราวจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั่วโลกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะ TH จากการแจกจ่ายวัคซีนในสัปดาห์แรกมีทิศทางออกมาดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก Yield Spread พบว่า REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

 

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้

ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวลดลง และกลับเข้าสู่ภาวะ Risk-Off จากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของดอกเบี้ย หลังจากผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดจากเดิมในปี 2024 จากการประชุมในเดือน มี.ค. เป็นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 และคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าคาด สะท้อนจากประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับที่เคยคาดไว้เพียงร้อยละ 6.5 จากปัจจัยดังกล่าวทำให้มีแรงเทขายออกมาในช่วงท้ายสัปดาห์ทั้งในส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยในส่วนของกลุ่มเอเชีย หุ้นจีนยังเผชิญแรงขายมากกว่าประเทศอื่น ๆ จากเรื่องของการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ออกมาต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ ประกอบกับประเด็นเรื่องของการแทรงแซงตลาดของรัฐบาลจีนต่อการทำธุรกิจต่าง ๆ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของยุโรปแม้ดัชนี EURO STOXX600 จะทำสถิติใหม่สูงสุดช่วงกลางสัปดาห์  จากการปรับเพิ่มขึ้นของกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมัน และหุ้นกลุ่มสันทนาการจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนโยบายผ่อนคลายต่าง ๆ แต่ปิดทั้งสัปดาห์ปิดปรับตัวลดลงจากประเด็นเรื่องของแนวโน้มดอกเบี้ยเช่นกัน ทำให้ภาพรวมในสัปดาห์ที่แล้วเรื่องของดอกเบี้ยกลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้ง และยังต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง
เรามองว่าความผันผวนอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ก็อาจทำให้มีโอกาสในการทยอยสะสมกองทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากโอกาสที่นโยบายการเงินจะลดความผ่อนคลายมากกว่าระดับที่มีการสื่อสารในปัจจุบันนั้นมีโอกาสน้อย ในขณะที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี กลยุทธ์สำคัญยังเป็นการกระจายการลงทุนให้สอดคล้องกับธีมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เรายังคงแนะนำทยอยสะสมกองทุนหลัก ได้แก่ กองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท
โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG-RA) กองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO) ในขณะที่ฝั่งเอเชียยังเน้นการลงทุนในจีนและเวียดนามได้แก่ กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ (KFACHINA-A) และกองทุนเปิด
พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ-A)
ในสัปดาห์นี้ติดตามประเด็นความผัวผวนในตลาดพันธบัตร การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการกลายพันธ์ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ และยุโรป ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Core Durable Goods Orders) ของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) การประกาศอัตราดอกเบี่ย Loan Prime Rate (LPR) ของจีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
www.mitihoon.com