ลุมพินี วิสดอม แนะ 4 วิธีอย่างง่ายในการปรับที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีรับการทำงานที่บ้าน

31

มิติหุ้น – นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom : LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า ลุมพินี วิสดอม เสนอแนะ 4 วิธีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีภายใต้เกณฑ์ของ WELL Building Standard หรือมาตรฐานการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย ที่ออกแบบมาตรฐานโดย สถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล เวลล์ บิลดิ้ง (International WELL Building Institute: IWBI) ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน 

 

“การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ WELL คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากยึดการออกแบบจากทิศทางของแสงและลมเป็นหลัก” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว  

 

ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีเหมาะกับการทำงานที่บ้าน ประกอบด้วย 

 

 การเลือกมุมทำงานในพื้นที่ที่แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงได้ เพื่อลดการใช้แสงจากหลอดไฟ ถ้าในที่พักอาศัยมีแสงธรรมชาติไม่เพียงพอจำเป็นต้องใช้แสงไฟจากดองโคม  ควรเลือกหลอดไฟที่มีความคล้ายคลึงกับแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสบายตาในการทำงาน และมีคุณภาพของสีที่ตรงกับความเป็นจริง และต้องทำการจัดตำแหน่งโคมไฟให้เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเงาและแสงสะท้อนบนหน้าจอเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการปวดตา และส่งผลเสียต่อดวงตาในระยะยาวได้ คุณภาพแสงที่ดีจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้อีกด้วย  

 

 พื้นที่ทำงานควรมีอากาศที่ถ่ายเทได้อย่างสะดวก มีคุณภาพอากาศที่ดี ในห้องหรือในพื้นที่ทำงานภายในที่อยู่อาศัย ควรมีอากาศถ่ายเทไม่ควรเป็นพื้นที่ปิดที่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เนื่องจากการทำงานในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา อาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจได้  

  

 เลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ (Ergonomic Design) การทำงานที่บ้านควรเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่เป็นไปตามหลักสรีระศาสตร์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็น Office Syndrome จากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ในขณะเดียวกันควรปรับตำแหน่งอุปกรณ์สำนักงานให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน อาทิ  ตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรสามารถปรับระดับได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานให้ขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับสายตาพอดีหรือต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย หากใช้คอมพิวเตอร์แบบ Labtop ก็ควรต่อจอมอนิเตอร์แยก และจัดให้มีชุดคีย์บอร์ด, เม้าส์ต่างหาก ผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องก้มลง หรือเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อใช้ Trackpad ที่ติดมากับตัวเครื่อง, ความสูงของโต๊ะทำงาน โต๊ะทำงานควรจะปรับระดับได้ตามสรีระของผู้ใช้งาน ทั้งการนั่ง หรือการยืนทำงาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ทำงานขยับร่างกายมากขึ้น ไม่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดียวกันเป็นเวลานาน, เก้าอี้ทำงาน เก้าอี้ที่ใช้ทำงานควรมีที่พิงหลัง ที่วางแขน สามารถปรับระดับความสูงได้ตามความเหมาะสม โดยให้ที่วางแขนอยู่ในระนาบเดียวกับขอบโต๊ะ เพื่อให้สามารถรองรับแขนและข้อมือได้ โดยไม่รู้สึกเมื่อยช่วงไหล่  

 

 ดูสุขภาพกายแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย ปัญหาที่หลายๆ คนพบในระหว่างการทำงานแบบ Work from Home คือ การที่ทำงานเพลินจนลืมเวลา และรู้สึกว่ามีพลังในการทำงานน้อยลง เนื่องจากสถานที่ที่ปกติแล้วใช้พักผ่อนหย่อนใจกลับโดนบุกรุกด้วยงานจากที่ทำงานจนเหมือนไม่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตส่วนตัวแบบที่เคย ดังนั้น การทำงานที่บ้านนอกจากการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีที่ที่พักแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “จิตใจ” เป็นอย่างมาก โดย WELL กำหนดเป็น 1 ใน 10 หัวข้อหลักที่ต้องปฏิบัติเมื่อยื่นขอรับรองอาคาร เน้นย้ำว่าชีวิตการทำงานที่ดีต้องมี Work Life Balance ไม่ก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้ที่ทำงานในสำนักงานแยกออกจากบริเวณที่ทำงานอย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่บ้านได้อย่างง่ายๆ โดยเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในบ้านเป็นพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน และควรมีเวลาพักผ่อนเป็นเวลา 30 นาที ในช่วงกลางวัน เพื่อเป็นการรีเฟรชสมองให้ปลอดโปร่ง ไม่จมอยู่กับความเครียดของการทำงานจนมากเกินไป   

 

“ในห้วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน การปรับปรุงที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับการทำงานและสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เป็นสิ่งจำเป็น การนำมาตรฐาน WELL เข้ามาใช้ในการปรับปรุงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากแต่เน้นการปรับพื้นที่โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เมื่อปรับปรุงพื้นที่ได้เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน พักผ่อน ให้การอยู่อาศัยมีสุขภาวะที่ดีในภาวะที่ COVID-19 แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว 

www.mitihoon.com