“กบข. เดินหน้าสนับสนุนบทบาท ESG ในเวทีสัมมนาออนไลน์ระดับนานาชาติ

21

มิติหุ้น –  ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)  ร่วมเสวนางาน State Street Global Advisors–OMFIF EMEA Roundtable: Recovery, Responsibility and Returns for Public Investors in 2021 หัวข้อ “Key Trends Turning ESG Into BAU for Investors” จัดโดย Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) ย้ำ ESG ไม่มี “One size fits all approach” และ “Government policy is a key driver.”

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.ศรีกัญญาได้ร่วมเวทีเสวนาออนไลน์กับผู้ทรงความรู้ด้าน ESG ได้แก่ Mr. Christophe Beuves หัวหน้าฝ่ายงานตลาดตราสารหนี้และการบริหารงานต่างประเทศ (Head of Bond Markets and International Operations) จากธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank), Ms. Anne-Charlotte Hormgard, ผู้จัดการอาวุโสด้านความยั่งยืน (Senior Manager, Sustainability) จาก AP-Fonden 3 ประเทศสวีเดน, Ms. Anne Simpson, ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการลงทุน ธรรมาภิบาล และความยั่งยืน (Managing Investment Director, Board Governance & Sustainability) จาก CalPERS กองทุนบำนาญแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยมี Ms. Patricia Hudson, หัวหน้ากลยุทธ์ ESG ระดับโลก (Global Head of ESG Strategy) จาก State Street เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในงานสัมมนาดังกล่าว ดร.ศรีกัญญา ได้กล่าวว่าการลงทุนเพื่อความยั่งยืนโดยคำนึงปัจจัย ESG (ESG Investing) นั้น “ไม่มีสูตรสำเร็จ (No One size fits all approach) นักลงทุนสถาบันที่ต้องการเป็นนักลงทุนที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง (True Responsible Investor) ต้องวิเคราะห์นัยยะสำคัญ (Materiality) ของปัจจัย ESG ภายใต้สภาพแวดล้อม (Context) ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ในแต่ละอุตสาหกรรม ฯลฯ

นโยบายรัฐ (Government Policy) คือกลไกที่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อน (Key drivers) การลงทุนอย่างรับผิดชอบให้กลายเป็น Business as Usual (BAU) ได้ ทั้งนี้เพราะการลงทุนแทบทุกลักษณะในโลกต่างก็เกี่ยวข้องกับรัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐสามารถเป็นได้ทั้งผู้ลงทุน (direct investor) ผู้ร่วมลงทุน (co-investor) ผู้ซื้อ (purchaser) ผู้เปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจจากทรัพยากรของรัฐ (providing transaction resources) อีกทั้งยังเป็นผู้ที่สามารถกำหนดระเบียบ ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อเป็นเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนอย่างรับผิดชอบได้” ดร.ศรีกัญญากล่าว

ดร.ศรีกัญญา ได้ยกตัวอย่างประเทศที่นโยบายของรัฐมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบ อาทิ นโยบาย Energy Star Program ของประเทศอเมริกาที่เอื้อต่อการผลิตสินค้าหรือโรงงานที่ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบาย Multi-fondos ของประเทศเปรูที่ให้กองทุนบำนาญท้องถิ่นสามารถลงทุนในธุรกิจ SMEs ได้ด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น กฎหมาย Microfinance ของประเทศเคนยาเพื่อกำกับดูแลการให้บริการเงินกู้ระดับไมโครให้เหมาะสม หรือนโยบาย National Rental Affordability Scheme ของประเทศออสเตรเลียที่ให้ Tax credit สำหรับการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยราคาประหยัด เป็นต้น

การกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการสร้างประเทศที่ยั่งยืน (Sustainable Country) และการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้หากภาครัฐและนักลงทุนสถาบันไม่ร่วมมือก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ดร.ศรีกัญญา สรุป

www.mitihoon.com