สรุปมุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์ May 31 – June 4, 2021

75
ตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2,000 รายต่อวัน โดยตลาดหุ้นไทยได้ปิดที่ระดับ 1,581.98 จุด เนื่องจากความคืบหน้าในการเปิดลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 รวมไปถึงทาง ครม. ที่ได้มีการอนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมอีกจำนวน 500,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ จนถึงใช้ในการสาธารณสุข ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นยังคงหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังคงมีแรงขายอย่างต่อเนื่องและจำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงยังเป็นประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นไทยอยู่ ดังนั้นแม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ในขณะที่ยังคงได้รับแรงกดดันอยุ่มาก ส่งผลให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังอาจต้องชะลอการลงทุนเพื่อรอจังหวะการลงทุนและยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
 
ตลาดหุ้นต่างประเทศ
ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนความผันผวนที่ลดลงของตลาด โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับจุดสูงสุดอีกครั้งจากแรงซื้อในหุ้นเทคขนาดใหญ่ช่วงท้ายสัปดาห์ ในขณะที่นักลงทุนเฝ้าจับตาการประชุมเฟดครั้งหน้าถึงแนวโน้มการตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นยอดขายบ้านใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 20.1% และราคาบ้านที่เพิ่มขึ้น 13.2% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคออกมาที่ระดับ 3.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 2.9% ส่วนทางฝั่งยุโรปตลาดโดยรวมปรับขึ้นราว 1% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นและการคลายความกังวลของตัวเลขผู้ติดเชื้อเนื่องด้วยการกระจายของวัคซีนที่ทำได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นเอเชียยังคงถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในบางภูมิภาค แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฐจักรขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหุ้นในฝั่งยุโรปเนื่องจากมูลค่าพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ตลาดตราสารหนี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลตอนแทบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี มีการปรับตัวลงสู่ระดับ 1.584 % จากการเผยมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาชิคาโก ต่อนโยบายทางการเงินในปัจจุบันที่จะยังคงผ่อนคลายต่อไป นอกจากนี้ผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวลงสวนทางกับตัวเลขดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่าคาด สะท้อนถึงมุมมองของนักลงทุนที่มีความกังวลน้อยลงต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะเข้มงวดขึ้นในระยะถัดจากนี้ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ
ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1,905.3 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.52% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.45% ตลอดทั้งเดือน พ.ค. ราคาทองคำได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดีดตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ FED ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน เม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% จากระดับ 0.4% ในเดือน มี.ค. (MoM) และพุ่งขึ้น 3.1% ในเดือน เม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 1.9% ในเดือน มี.ค. (YoY) สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 66.32 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.31% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวบวกแรงในช่วงต้นสัปดาห์จากการที่โกลด์แมน แซคส์ ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะยังคงดีดตัวขึ้นต่อไป แม้ว่าอิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด
โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะสามารถดีดตัวแตะระดับ 80 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ในไตรมาส 4 ได้แรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจากการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามผลการประชุมของกลุ่ม OPEC และ OPEC+ ที่จะประชุมกันในวันอังคารที่ 1 มิ.ย. นี้ แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุนและติดตามผลหารือเรื่องโควต้าการผลิตของการประชุมดังกล่าว

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวลดลงสอดคล้องกัน หลังจากก่อนหน้านี้นักลงทุนมีความกังวลว่า FED อาจมีการทำ QE Tapering เร็วกว่าที่คาดการณ์จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลการประชุมของ FOMC ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. นี้ ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั่วโลก โดย TH ปรับตัวลง 11 bps (SETPREIT +0.57%) จากการเปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก Yield Spread พบว่า REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

 
การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้

ภาวะตลาดการเงินมีลักษณะเป็น Risk-on ในสัปดาห์ก่อนหน้า สะท้อนตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นนำโดยตลาดเอเชียเป็นหลัก โดยเฉพาะจีนที่ดัชนี CSI300 ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ต่อเนื่องกัน ในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกลับมาให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดโดยรวมอีกครั้ง โดยปัจจัยหลักๆ มาจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะส่งผลให้นโยบายการเงินลดความผ่อนคลายลง สะท้อนจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ทรงตัวอยู่ระหว่าง 1.55% ถึง 1.60% ต่อปี ตลอดทั้งสัปดาห์ และการคาดการณ์เงินเฟ้อในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.60% ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงที่อัตราเงินเฟ้อออกในช่วงก่อนหน้าที่ปรับตัวสูงสุด 2.77% ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 แม้จะยังมีการเร่งตัวขึ้นอยู่หลายประเทศในเอเชีย แต่ภาพรวมสถานการณ์ก็ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ปรับลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสิ้นเดือน เม.ย. และอินเดียที่ผู้ติดเชื้อใหม่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ในส่วนของนโยบายการเงินของประเทศยังน่าจะผ่อนคลายสนับสนุนการฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางยุโรปยืนยันว่าเร็วเกินไปที่จะหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP)
แม้สถานะการณ์การระบาดในยุโรปจะดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจากการรายงายพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการทำธุรกรรม Reverse Repo เพื่อดูดสภาพคล่องออกจากตลาดถึง 4.8 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. โดยนักวิเคราะห์บางส่วนไม่ได้กังวลกับการกระทำดังกล่าวเนื่องจากอาจจะเป็นการปรับสภาพคล่องส่วนเกินในตลาด และอาจจะเป็นเรื่องดีเพราะแสดงให้เห็นว่า FED ไม่ได้ Behind-the-Curve ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงเมื่อถึงเวลา และในปัจจุบันจะแตกต่างจากในปี 2013 ที่สภาพคล่องส่วนเกินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ที่ FED ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับปี 2013 ที่อยู่เพียง 1.0 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. เท่านั้น
โดยภาพรวมการลงทุนก็ยังมีแนวโน้มที่จะยังมีความผันผวนเป็นช่วงๆ จากปัจจัยต่างๆ เช่น แรงกดดันเงินเฟ้อ หรือเรื่องของความผันผวนจากตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสกุลเงินดิจิตอล รวมถึงข้อขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นในช่วงนี้อาจะเน้นสะสมการลงทุนในกลุ่มที่มีโอกาสปรับลดลงน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น โดยเฉพาะจีนที่ปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดอื่นๆ โดยเฉลี่ยในปีนี้ ทำให้ระดับของการซื้อขายมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ตลาดยังปรับตัวได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาดอื่นอย่างชัดเจนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภาพระยะยาวยังมีความน่าสนใจและควรจะเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตฟอลิโอ โดยเราแนะนำกองทุน กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้ (KFACHINA-A) หรือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไชน่า อิควิตี้ (MCHINAGD) ในขณะที่กลุ่ม Global
เรายังคงชอบกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ (Principal GOPP-A) ในขณะที่การลงทุนในยุโรปก็น่าสนใจจากระดับมูลค่าซื้อขายและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกระจายการกระจุกตัวในกลุ่มสหรัฐฯ และจีนโดยแนะนำกองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO)ในสัปดาห์นี้ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญนำโดย ISM Manufacturing (US), อัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตร (US), Manufacturing PMI (China) และเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน (Eurozone) รวมถึงแผนรายจ่ายงบประมาณประจำปีของสหรัฐฯ ประจำปี 2564 นอกจากนั้นยังต้องติดตามการทำธุรกรรม Reverse Repo ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการดูดซับสภาพคล่องบางส่วนออกจากตลาด โดยวันจันทร์จะเป็นวันหยุดของตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากวัน Memorial Day
www.mitihoon.com