มุมมองการลงทุนประจำสัปดาห์

40

 

ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงรอปัจจัยหนุนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการอนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมอีกจำนวน 7 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ รวมไปถึงใช้ในการสาธารณสุข โดยตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ และปิดที่ระดับ 1,552.44 จุด ทั้งนี้จำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ในระดับเกินกว่า 2,000 รายต่อวัน รวมไปถึงแนวโน้มของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้ส่งผลกดดันต่อกลุ่มพลังงานและส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งสภาพัฒน์ยังได้มีการแถลงถึงดัชนี GDP ในไตรมาส 1/2021 ของไทยที่ปรับตัวลดลง 2.6% (YoY) ซึ่งยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2020 ดังนั้นตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยกดดันอยู่ค่อนข้างมาก รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนที่จำกัด ทำให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดดังกล่าวอาจเลือกชะลอการลงทุนและเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและการฉีดวัคซีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป 

ตลาดหุ้นต่างประเทศ 

ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมาจากแรงกดดันของการเปลี่ยนน้ำหนักในหมวดอุตสาหกรรมการลงทุน (Sector Rotation) จากหุ้นกลุ่มเติบโตอย่างกลุ่มเทคโนโลยี ไปกลุ่มวัฏจักรที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบล่าสุดได้มีการส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าจะมีการพิจารณานโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นหากเศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างร้อนแรงในลักษณะนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่ 2% ส่งผลกดดันตลาด ในขณะที่ตลาดยุโรปก็ถูกดันจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกันถึงแม้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้น ส่วนทางฝั่งเอเชียนั้นตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยรวมนำโดยอินเดียและจีนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแม้ว่าในหลายๆ ประเทศยังคงเผชิญแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่ แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหุ้นในฝั่งยุโรปเนื่องจากมูลค่าพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

ตลาดตราสารหนี้ 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลตอนแทบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี มีการปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.619 % ซึ่งในระหว่างสัปดาห์ ผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.700% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเผยรายละเอียดของรายงานการประชุมครั้งล่าสุดในวันพุธที่ผ่านมา จากความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินหลังตัวเลขเงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากการเผยรายงานดังกล่าว ดัชนีผลตอบแทนพันธบัตรก็มีการปรับตัวลงจากการคลายความกังวลรวมถึงแรงซื้อพันธบัตรที่มากขึ้นจากทางฝั่งเอเชีย สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ

ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก 

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปิดที่ 1,876.7 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.10% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำปรับตัวบวกแรงช่วงต้นสัปดาห์จากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. โดย Dollar Index ปรับตัวหลุดระดับ 90 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 เดือนและการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายสัปดาห์ราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบแคบและมีแรงขายทำกำไรออกมาบางส่วนหลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้ทยอยสะสม 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 63.58 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวลดลง 2.74% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ ถูกกดดันจากความกังวลที่อิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง เนื่องจากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ มีความคืบหน้าและอาจทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ยังถูกกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ของ EIA ที่เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้รับปัจจัยสนับสนุนในช่วงท้ายสัปดาห์จากพายุที่ก่อตัวในอ่าวเม็กซิโกอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ แนะนำให้คงสัดส่วน โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลัง

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน จากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์และสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี สาเหตุจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ รวมถึง Low Base Effect ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลที่ FED อาจใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นรวมถึงอาจเห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์ ด้าน REIT Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกันทั่วโลก จากการปรับฐานของตลาดการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก Yield Spread พบว่า REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

Asset Allocation 

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้ 

ตลาดการเงินยังคงมีความผันผวน โดยในสัปดาห์ก่อนตลาดหลักทรัพย์ฝั่งเอเชียให้ผลตอบแทนดีกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว นำโดยตลาดหลักทรัพย์อินเดีย ไต้หวัน และฮ่องกง แม้หลายๆ ประเทศจะเผชิญกับปัญหาการเร่งตังขึ้นของผู้ติดเชื้อ แต่ประเทศในฝั่งเอเชียยังน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนก็ตอบรับเชิงบวกต่อการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลาง ในขณะที่ผลประกอบการของ Tencent รายได้เติบโต 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนและกำไรสุทธิเติบโต 65% ในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจในกลุ่มนี้หลังจากที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากเรื่องของประเด็นกับทางการ โดยตลาดเอเชียเคลื่อนไหวสวนทางกับตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ที่ยังคงผันผวนและได้รับแรงกดดันจากหลายประการทั้งในส่วนของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อและความเป็นไปได้ของนโยบายการเงินที่จะลดความผ่อนคลายลงสะท้อนจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุด และรายงานการประชุมธนาคารกลางครั้งล่าสุด ที่บ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะเริ่มหารือถึงเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งหน้า รวมถึงเรื่องของการเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรม (Sector Rotation) ที่ยังมีต่อเนื่อง

เรายังมองว่าตลาดยังน่าจะคงผันผวนอย่างต่อเนื่องจากหลายๆ ปัจจัย แต่เป็นโอกาสที่ดีในการทยอยสะสมหุ้นที่ปรับตัวลดลงมามาก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นเติบโตฝั่งสหรัฐฯ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของทั้งสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงมีงบการเงินที่แข็งแกร่ง และน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูง ในขณะที่เรื่องของนโยบายการเงินที่อาจจะลดความผ่อนคลายลง แต่ก็น่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และแม้ความเป็นไปได้ที่สภาพคล่องจะลดลงบ้าง แต่ต้นทุนทางการเงินในรูปของอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปนัก ในทางตรงกันข้ามอาจจะทำให้ความกังวลในเรื่องดังกล่าวหมดไป ในขณะที่หุ้นยุโรปก็เริ่มมีความน่าสนใจสำหรับการกระจายความเสี่ยงบางส่วนและน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

สัปดาห์นี้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยเฉพาะฝั่งเอเชียที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูงและอาจกดดันจนก่อให้เกิดนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น ความผันผวนในตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่ยังคงผันผวนรุนแรง การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีความสำคัญๆ เช่น Zoom Video และ Hewlett Packard รวมถึง Sunny Optical Tech และตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของเยอรมนีและสหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) และดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE Price Index) ของสหรัฐฯ

www.mitihoon.com