กูรูทิสโก้ชี้ เงินเฟ้อเขย่าตลาดหุ้นระยะสั้น คาดอีก 2 ปี กว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย

34

 

มิติหุ้น- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ระบุความกังวลด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนแค่ระยะสั้น คาดอีก 2 ปี กว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย โดยอาจเริ่มส่งสัญญาณลด QE ช่วงไตรมาส 3/2564 พร้อมแนะจัดพอร์ตรับความผันผวน

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน เพราะนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าหลายฝ่ายประเมินไว้ โดยในเดือนเมษายน 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐฯ ได้เร่งตัวขึ้นเป็น 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2552

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจนกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในรอบนี้จะเป็นเพียงปัจจัยลบชั่วคราว เพราะปัจจัยหลักที่หนุนให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเร็วกว่าคาดเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นสำคัญ โดยราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดเศรษฐกิจ (Reopening) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ตั๋วเครื่องบิน,โรงแรม,ค่าขนส่ง, และค่าเข้าชมการแข่งขันกีฬา และรถยนต์มือสอง

อีกทั้งในระยะยาว อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ของเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ โดย GDP โลกยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมในปี 2552 อยู่พอสมควรและต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าอุปสงค์จะฟื้นตัวไปที่ระดับเดิม โดยหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของสหรัฐฯ จะพบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ชี้ให้เห็นว่ายังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือในระบบเศรษฐกิจมากเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการบริโภคไปได้อีกหลายปี

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นตามมา แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่าประเด็นนี้ก็ยังไม่เป็นที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นในรอบนี้เป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำในปีที่แล้ว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้ผลิตในหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าจุดสูงสุดในปี 2551 เพียง 5% เท่านั้น อีกทั้ง ราคาที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ในขณะที่ปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวปัจจัยเหล่านี้จะเริ่มมีผลลดลงและทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงกลับสู่แนวโน้มปกติในปีหน้า  ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงกลับสู่แนวโน้มปกติจะทำให้ Fed สามารถทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างช้าๆ โดยไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาด

โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณถึงการลดการอัดฉีดสภาพคล่องในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อให้ตลาดรับรู้ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริงในปีหน้า โดย Fed จะทยอยลดการซื้อสินทรัพย์จากปัจจุบันที่ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เหลือเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จนหมดในช่วงปลายปี ก่อนจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งในช่วงที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณอาจจะทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอีกครั้ง ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อเตรียมรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น

www.mitihoon.com