IMH นักลงทุนสถาบันดอดถือหุ้น-ชี้Q2นิวไฮ

182

มิติหุ้น- บมจ.โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ (IMH) เนื้อหอม ล่าสุดมีนักลงทุนสถาบัน 2-3 ราย แห่ตบเท้าสนใจเข้าลงทุนในหุ้น IMH หลังเปิดเกมรุกซื้อกิจการ โรงพยาบาลประชาพัฒน์ ที่รอจ่อบุ๊ครายได้ใหม่เข้ามารวมกับ IMH ส่งผลให้ ในไตรมาส 2/64 นี้ กลุ่ม IMH    จะมีรายได้รวม มากกว่า 150 ล้านบาท ทันที พร้อมมี upside จากการให้บริการตรวจ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น หนุนผลงานนิวไฮ เตะตานักลงทุนสถาบัน ด้านบล. หยวนต้า ปรับกำไร ปี64 เพิ่มขึ้นเป็น 62 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนปีก่อนที่17 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการล็อกดาวน์  ในปีที่ผ่านมา พร้อมให้ราคาเป้าหมายใหม่มีลุ้น แตะ 7.15 บาท 

ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH และประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน 2-3 ราย ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในหุ้น IMH โดยให้เหตุผลในการเข้ามาลงทุนดังกล่าวว่า เห็นศักยภาพของ IMH ในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์วิกฤตการระบาดโควิดในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และประกอบกับ IMH มีฐานลูกค้า Active ในมือมากกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการให้บริการในและนอกสถานที่ ส่งผลให้ IMH สามารถให้บริการทางการแพทย์  เช่น การตรวจเชื้อโควิด และ ฉีดวัคซีนฯ กระจายสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้อย่างรวดเร็วและ เป็นวงกว้าง กว่า โรงพยาบาลเชิงรับ

ทั้งนี้ ธุรกิจของ IMH จะมีนิวไฮ ตั้งแต่ไตรมาส 2/64 นี้เป็นต้นไป หลังจากที่ IMH​ ได้มีการปรับ กลยุทธ์โครงสร้างองค์กรเชิงรุกตั้งแต่ต้นปี64 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจโรงพยาบาล และศูนย์ให้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดธุรกิจโดยการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลประชาพัฒน์ รวมถึงการดึงศัลยแพทย์ตกแต่งมือหนึ่งทางด้านทรวงอก เข้ามาเสริมทัพ พร้อมทั้งมีการเซ็นสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจ กับ บริษัทแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (ABBOTT)​ เพื่อจำหน่ายชุดตรวจเชื้อโควิดแบบใหม่ “Antigen Swab”  ซึ่งแผนการปรับกลยุทธ์ของ IMH ดังกล่าว ทำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบัน เล็งเห็นศักยภาพการเติบโต ที่จะสะท้อนเชิงบวกให้กับ IMH ในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งจะเห็นได้จากศักยภาพในการรองรับการให้บริการตรวจเชิงรุก สำหรับการตรวจ COVID​-19 ที่สามารถให้บริการได้ถึง 3 แห่ง ได้แก่   โรงพยาบาล อินเตอร์เมดฯ, โรงพยาบาลประชาพัฒน์ และ ศูนย์สุขภาพ IMH ASOKE  (ชั้น 4 รพ.ผิวหนังอโศก)​

ในขณะเดียวกัน ในส่วนของโรงพยาบาล ประชาพัฒน์  ซึ่งมีศักยภาพระดับโรงพยาบาลทุติยภูมิ                        ที่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วไป – ผู้ป่วยตามโครงการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ป่วยประกันสังคม ย่านพื้นที่ฝั่งธนบุรีได้รองรับได้ถึง 100 เตียง

ทั้งนี้จากการแผนการต่อยอดธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถทยอยเก็บเกี่ยวรายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป โดยจากการประเมินรายได้ใหม่ ซึ่งรวมรายได้จาก โรงพยาบาลประชาพัฒน์​ เข้ามาด้วย จะดันรายได้รวมของกลุ่ม IMH แตะระดับ 150 ล้านบาท ในไตรมาส 2/64​ นี้ ทันที

และจาก Synergy  & Transform ดังกล่าวในข้างต้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันเห็นถึงความมุ่งมั่นทางธุรกิจเพื่อสามารถขยายอาณาจักรการให้บริการที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกพื้นที่ ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปิดประเทศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในอนาคต ดังนั้นบริษัทฯ จึงตั้งเป้าอัตราการเติบโต ในปี 64 รายได้รวมจะมีเติบโตแบบก้าวกระโดด แตะระดับ 600  ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 247.75 ล้านบาท

ด้าน บล.หยวนต้า ประเมินภาพรวมผลการดำเนินงานของ IMH ในไตรมาส 2/64 ว่า จะกลับมาเติบโตโดดเด่น เนื่องจากจะเริ่มรวมงบของโรงพยาบาลประชาพัฒน์ เข้ามาและยังได้ผลบวกจากบริการตรวจ COVID-19 โดยยอดตรวจเดือน เม.ย เติบโตโดดเด่นจาก ไตรมาส 1/64 เฉลี่ยเพียง 100-200 คนต่อวัน เป็นมากกว่า 1,000 คนต่อวัน โดย IMH ตั้งเป้าจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการตรวจ COVID​-19 ในไตรมาส 2/64 ประมาณ 50,000 คน ขณะที่เตียงรองรับผู้ป่วยซึ่งมี 100 เตียง 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลัง จะยังโดดเด่นต่อเนื่อง เพราะจะเข้า High Season ของธุรกิจ ซึ่งจะมีรายได้ตรวจสุขภาพเข้ามามากขึ้น อีกทั้งอยู่ในช่วงดีลในการรับช่วงต่อฉีดวัคซีน COVID-19 จากภาครัฐและพันธมิตรภาคเอกชน และยังมีรายได้จากการตรวจภูมิในช่วงปลายปีสำหรับคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งทำให้รายได้ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ยังเข้ามาต่อเนื่อง จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 64  เป็นนิวไฮ 62 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนปีก่อนที่ 17 ล้านบาท เป็นผลบวกการให้บริการตรวจ COVID-19  ซึ่งทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ จึงให้ราคาเป้าหมายใหม่ 7.15 สะท้อนการปรับตัวของกำไรที่เพิ่มขึ้น

www.mitihoon.com