ก.ล.ต. พร้อมรองรับการส่งรายงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกภาคธุรกิจ ปักธงให้แล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2564

19

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศเตรียมเปิดรับการนำส่งรายงานจำนวน 345 รายงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนการส่งแบบกระดาษ (hard copy) พร้อมยกเลิกการส่งรายงานที่ไม่จำเป็น หรือปรับวิธีการจัดทำและส่งข้อมูลใหม่ เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน แต่ยังคงมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2564

ก.ล.ต. เตรียมออกประกาศปรับปรุงการส่งรายงานของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจเป็นทรัสตี โดยนำข้อมูลการรายงานทั้งระบบมาทบทวนในคราวเดียวกัน และดำเนินการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) การรับรายงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการส่งเป็น hard copy (2) ยกเลิกการส่งรายงานต่อ ก.ล.ต. แต่ให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่น เช่น ให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลไว้ในช่องทางที่เข้าถึงได้เป็นการทั่วไป หรือให้จัดทำและเก็บข้อมูลไว้ในลักษณะที่พร้อมให้ ก.ล.ต. เรียกดูได้ และ (3) ยกเลิกรายงานที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ ในส่วนของการรายงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันรองรับการนำส่งรายงานแล้ว 33 รายงาน หลังออกประกาศชุดนี้จะรองรับเพิ่มได้อีก 345 รายงาน*

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า  “ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยมีแนวคิดในการทบทวนการส่งรายงานต่อ ก.ล.ต. ทั้งระบบ และต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การทบทวนในครั้งนี้ ได้นำรายงานทั้งหมดมาประมวลว่า เรื่องใดไม่มีความจำเป็นแล้ว ต้องยกเลิกไป เรื่องใดสามารถใช้วิธีการอื่นแทนได้ และเรื่องใดที่ยังมีความจำเป็นต้องรายงานให้ส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน hard copy ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ Regulatory Guillotine**  นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในตลาดทุนเกี่ยวกับทิศทางและพัฒนาการของการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะทั้งจากหน่วยงานเอกชนในตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดย ก.ล.ต. จะประกาศแจ้งกำหนดการเริ่มส่งรายงานอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2564 เป็นต้นไป และปักธงให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในไตรมาส 4 ของปี 2564”

______________________

*ธุรกิจหลักทรัพย์ 7 ประเภท ได้แก่ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker) ผู้ค้าหลักทรัพย์ (dealer) ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) ที่ปรึกษาการลงทุน (IA) กองทุนรวม (MF) กองทุนส่วนบุคคล (PF) และนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) รวมจำนวน 280 รายการ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 22 รายการ และการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ 43 รายการ

**Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

www.mitihoon.com