ตลาดหลักทรัพย์ฯชูโมเดลพี่เลี้ยงทางการเงิน หลายองค์กรร่วมขับเคลื่อน สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินระยะยาว

45

มิติหุ้น – วิกฤติโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อคนไทยเป็นวงกว้าง หลายคนต้องสูญเสียรายได้จากการเลิกจ้างงาน การลดเงินเดือน ส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจที่เดิมมีอยู่แล้วก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ร่วมมือกันให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่หัวใจสำคัญคือการยกระดับความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม และร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออมและใช้จ่ายเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน โครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย” นับเป็นหนึ่งในโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ผันผวนหรือไม่คาดคิด  

การเปิดตัวโครงการดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นประธาน ซึ่งในงานได้มีพิธีลงนาม MOU ด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ระหว่าง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการส่งเสริมความรู้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ในงานยังมีการเสวนาจากองค์กรภาคเอกชนในหัวข้อ “ส่งต่อความรู้การเงินอย่างไร ให้เกิดวินัยยั่งยืน : ต้นแบบองค์กรร่วมขับเคลื่อนและเพิ่มพูนทักษะเรื่องการเงิน” โดยมีผู้แทนจาก องค์กร มาแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Happy Money โดยมีการส่งต่อความรู้ด้านการเงินให้กับพนักงานในองค์กรของตนเอง ซึ่งองค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ได้

ทั้งนี้ นางพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท. ได้จัดทำหลักสูตรคัมภีร์พี่เลี้ยงทางการเงิน ซึ่งเป็นโมเดลที่เข้มข้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แบ่งการอบรมเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การปรับพื้นฐานปูองค์ความรู้ด้านการออม การลงทุน การวางแผนทางการเงินในรูปแบบ e-Learning ระยะเวลา 3 ชม. 2.เรียนรู้คัมภีร์พี่เลี้ยงทางการเงิน ระยะเวลา ชม. 3.Workshop ระยะเวลา 6 ชมและ 4.รับคำปรึกษาจากวิทยากร Group Mentor โดยนำประสบการณ์จากการไปเป็นพี่เลี้ยงจริงมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

“ที่ผ่านมา การให้ความรู้ด้านการบริหารการเงิน ซึ่งได้สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินที่ดี แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้นคือ ต้องการคนที่มีความรู้ไปสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตรสร้างพี่เลี้ยงทางการเงิน คนที่ผ่านการอบรมจะกลายเป็นพี่เลี้ยงที่สามารถนำเอาทักษะและประสบการณ์ที่มีส่งต่อความรู้ไปยังผู้อื่นได้อีก ซึ่งองค์กรที่เห็นความสำคัญและส่งพนักงานเข้ามาร่วมอบรม จะเกิดประโยชน์ทั้งตัวพนักงานเองและองค์กร เพราะหากพนักงานมีความรู้ความเข้าใจสามารถบริหารจัดการเงินของตนเองก็จะช่วยเหลือตนเองได้ ไม่เกิดปัญหาการเงิน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรในที่สุด” นางพรรณวดี กล่าว

ทางด้าน นางสาวทอปัด สุบรรณรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียได้มีการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยมีการอบรมพนักงานให้มีวินัยทางการเงิน  เรียกได้ว่าเป็นการให้วัคซีนแก่พนักงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

“ไทยแอร์เอเชียเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรก ซึ่งเมื่อโควิด-19 มา เรามองว่าวัคซีนภูมิคุ้มกันทางการเงินที่เราเคยให้พนักงานยังไม่เพียงพอ จึงได้ส่งพนักงานเข้าร่วมเติมความรู้ในโครงการ Happy Money กับ ตลท. โดยในกลุ่มพนักงานที่อายุยังน้อยจะสนใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้สิน ส่วนพนักงานที่เป็นลูกเรือและนักบินที่มีอายุมากกว่าจะสนใจเกี่ยวกับการบริหารเงิน การลงทุน และอาชีพเสริม นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพนักงานและช่วยจัดการวิกฤติในองค์กรได้เป็นอย่างดี” นางสาวทอปัด กล่าว

พร้อมทั้ง นางราณี นุตลักษณ์ กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นสวัสดิการให้กับพนักงานและเป็นหลักประกันว่าจะมีเงินเลี้ยงชีพหลังเกษียณ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 20,000 คน มีคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เป็นผู้บริหารจัดการ มุ่งเน้นให้สมาชิกออมเงินในอัตราที่สูงผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เพื่อให้มีเงินเพียงพอไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนำเงินออมไปลงทุนโดยยึดหลักการกระจายความเสี่ยง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่สมาชิก

“ที่ผ่านมาสมาชิก มีการออมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ในอัตราที่สูง 9-15% ของเงินเดือน คิดเป็น 73% ของจำนวนสมาชิก ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นให้มีการออมอย่างต่อเนื่อง เราจะให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องการออมเงินเริ่มตั้งแต่วันปฐมนิเทศพนักงานเข้าใหม่ โดยหากพนักงานออมเงินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ตั้งแต่เริ่มต้นอายุงานไปจนเกษียณคิดเป็นระยะเวลาประมาณ 37 ปี จะมีเงินเก็บเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลานและสังคม นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ยังได้วางแผนที่จะส่งเสริมให้สมาชิกได้รับความรู้และมีการวางแผนทางการเงินอย่างเป็นระบบและเข้มข้นมากขึ้น ด้วยการให้ผู้แทนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ประมาณ 90 คน เข้าอบรมในโครงการ Happy Money โดยมุ่งหวังให้ผู้แทนสมาชิกฯ เหล่านั้นเป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความรู้ไปยังสมาชิกรายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง” นางราณี กล่าว

นอกจากนี้ นายเก่งกล้า รักเผ่าพันธุ์ อดีตนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้กล่าวเสริมว่า สมาชิกในสมาคมฯ ที่มีอยู่ประมาณ 700 คน ทุกคนเป็นจิตอาสาไม่มีผลตอบแทน แต่เข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งยกระดับผู้ลงทุนและตลาดทุนให้มีมาตรฐานการลงทุนที่ดี

“สมาคมฯ มีการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งสมาชิกเข้าร่วมโครงการ Happy Money กับตลท. เพราะเล็งเห็นว่า ตลท. เป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ มีเครื่องมือ และกระบวนการอบรมที่ดี ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมอบรมสามารถนำความรู้ด้านการบริหารการเงินที่ได้รับไปส่งต่อให้กับคนใกล้ชิดที่อยู่รอบตัว เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รู้จักวางแผนทางการเงินอย่างเป็นกระบวนการและเป็นระบบมากขึ้น เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับตลาดทุนบ้านเราในท้ายที่สุด” นายเก่งกล้า กล่าว

www.mitihoon.com