ALT ไตรมาส1/64 รายได้โต 32% ดันกำไรขั้นต้นพุ่ง

110

มิติหุ้น – เอแอลทีโชว์ไตรมาส1/64 รายได้รวมกว่า 213 ล้านบาท เติบโต 32% ขณะที่มีงานรอรับรู้รายได้ 1,088 ล้านบาท เงินสดในมือ 268 ล้านบาท ปักธงธุรกิจปี 64 เป็นผู้นำให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและพลังงานทดแทนแก่ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี

นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 สิ้นสุด วันที่ 31 มี.ค. 2564 บริษัทมีรายได้รวม 213.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จาก 161.75 ล้านบาทเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563

รายได้ที่ อัตราการเติบโตสูงคือรายได้จาก การให้บริการโครงข่ายมียอดเพิ่มขึ้น 50.6% จาก 43.96ล้านบาท เป็น 66.21ล้านบาท นับเป็นไตรมาสแรกที่รายได้จากการให้บริการโครงข่ายสูงกว่าจุดคุ้มทุน ถือเป็นสัญญาณบวกอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันรายได้งานก่อสร้างเพิ่มขึ้น 40.55 ล้านบาท หรือ 39.7%

“กำไรขั้นต้นของบริษัทเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่ขาดทุน 35.10 ล้านบาทในไตรมาส 1/63 เป็นกำไร 8.18 ล้านบาทในไตรมาส 1/64”

แม้ผลการดำเนินการในไตรมาส1/64 เป็นยอดขาดทุนสุทธิ 32.09 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 188.17 ล้านบาทในไตรมาส 1/63 แต่หากไม่นับรวมรายการพิเศษคือเงินชดเชยค่าเสียหายจากกรณีพิพาท 369.62 ล้านบาทในรายได้อื่นของไตรมาส 1/63 ผลการดำเนินงานปกติก่อนภาษีของไตรมาส 1/63 จะเป็นขาดทุนประมาณ 119.80 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/64 ซึ่งมีขาดทุนก่อนภาษีจำนวน31.71 ล้านบาท จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 88 ล้านบาท หรือประมาณ 73%

ขณะที่สิ้นไตรมาส 1/2564 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) จำนวน1,088 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดในมือจำนวน 268 ล้านบาท

นายสมบุญกล่าวว่า กลยุทธการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและพลังงานทดแทน แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ในส่วนโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง บริษัทได้ลงทุนวางโครงข่ายหลัก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้ว รวมถึงได้สร้างสถานีฐาน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายของผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางโครงข่ายสื่อสารในอาเชียน (Asian Digital Hub)

“ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 มียอดการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเมียนมาร์ ผลประกอบการของบริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด ที่เป็นผู้ให้บริการแบนด์วิดท์แก่ลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้าน มีรายได้สูงขึ้น” นายสมบุญกล่าว

ส่วนธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ บริษัทได้ให้บริการวางระบบและติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของประเทศ จากความสำเร็จของโครงการนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะขยายโครงการให้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ทั่วทั้งประเทศ จึงถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง

ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ บริษัทได้มีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อให้เมืองมีความสวยงามและปลอดภัย โดยบริษัทจะมีการติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) ที่สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆเพื่อสังเกตการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่และสุขอนามัยของประชาชน ทั้งในเรื่องมลพิษ และฝุ่นละออง การจราจร รวมถึงเป็นจุดชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และยังได้พัฒนาซอฟท์แวร์เพื่ออ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ ใช้สำหรับการเก็บค่าบริการ ในปัจจุบัน ได้มีการนำไปปรับใช้กับการเก็บค่าบริการที่จอดรถ ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โอกาสในการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มต่างๆ ยังเป็นตลาดที่เปิดกว้าง และมีโอกาสเติบโตอีกมาก ขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ตอบสนองตรงตามความต้องการลูกค้า

www.mitihoon.com