ปตท. คาดสถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 3-7 พ.ค. 64 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 10-14 พ.ค. 64

128

โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)


ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

· สหรัฐฯ และยุโรปทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการสัญจร (Lockdown) โดยรัฐ New York, New Jersey, และ Connecticut ของสหรัฐฯ ประกาศจะกลับมาเปิดกิจกรรมต่างๆ อาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ออกกำลังกาย
เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 64 ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) แนะนำให้เปิดรับชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือมาจากประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี

· 7 พ.ค. 64 ท่อ Colonial Pipeline ในสหรัฐฯ ถูกโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้การขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป จากเมือง Houston
ในรัฐ Texas ไปยังฝั่งตะวันออก ปริมาณรวมประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดชะงัก

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

· ทางการอินเดียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน มี.ค. 64 ลดลงจากปีก่อน 6.5% อยู่ที่ 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจาก COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรง

แนวโน้มราคาน้ำมัน

จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง $67-$70/BBL นักลงทุนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก และคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์พลังงานจะฟื้นตัว ประกอบกับมีกระแสเงินทุน (Fund Flows) ไหลเข้ามายังตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม อย่างไรก็ตามสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะในอินเดีย ยังรุนแรงต่อเนื่อง ณ วันที่ 9 พ.ค. 64 ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 414,188 ราย รวมสะสมอยู่ที่ระดับ 21.49 ล้านราย และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3,915 รวมสะสมอยู่ที่ 234,083 ราย ควรติดตามการเจรจาต่อรองระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจ เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับเข้ามาสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA 2015) ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ในเดือน เม.ย. 64 แม้อาจจะไม่บรรลุข้อยุติในเร็ววัน แต่หากเงื่อนไขในการเจรจากำหนดให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคพลังงานอิหร่าน จะเปิดให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้เพิ่มขึ้น

www.mitihoon.com