อินโดรามา เวนเจอร์ส รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2564

62

มิติหุ้น – บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2564

สรุปผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2564

  • รายได้จากการขายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 จำนวน 3,240 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • Reported EPS อยู่ที่ 1.04 บาท เทียบกับ 0.20 บาทในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และ 0.07 บาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2563
  • Reported EBITDA เท่ากับ 483 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Core EBITDA ที่เพิ่มสูงขึ้น (จำนวน 369 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) จากความได้เปรียบในการปรับปรุงสัญญาและกำไรจากสินค้าคงคลัง
  • โครงการ Olympus หรือโครงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจและต้นทุนทั่วทั้งองค์กรของบริษัทฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานคิดเป็นจำนวน 67 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสนี้ เป็นไปตามเป้าหมายสำหรับปี 2564 ซึ่งตั้งไว้ที่ 287 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นจำนวน 195 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2563)

ภาพรวม

สถานการณ์ระดับโลกเป็นบวก ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการเริ่มต้นฉีดวัคซีน ส่งผลให้เกิดปริมาณอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและกำไรที่แข็งแกร่งสำหรับผลิตภัณฑ์หลักของไอวีแอล โดยเริ่มต้นจากการฟื้นตัวในประเทศจีนและส่งผลต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ปริมาณสินค้าคงคลังทั่วโลกที่มีอย่างจำกัดประกอบกับการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้กำไรของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้นสนับสนุนราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบทำให้ผลประโยชน์จากการใช้ shale gas ดีขึ้น เป็นผลต่อดีกลุ่มธุรกิจ IOD (Integrated Oxides and Derivatives) ของไอวีแอลในอเมริกาเหนือ ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการคาดการณ์รายได้ที่แข็งแกร่งขึ้นในครึ่งแรกของปี 2564

 โครงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจที่กำลังดำเนินการ

ท่ามกลางการฟื้นตัวของสถานการณ์ ไอวีแอลยังคงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นดำเนินโครงการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เริ่มไว้ในปี 2563 บริษัทฯ มีความคืบหน้าที่ดีในการพัฒนาการใช้ระบบ ERP เดียวทั่วโลก เสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างการใช้ข้อมูล (data platform) และเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ที่จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น การวิเคราะห์ทางธุรกิจที่ดีขึ้นจะช่วยเพิ่มระเบียบในหลายๆ ด้าน อาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยง (exposure management) ซึ่งเป็นแง่มุมสำคัญต่อสภาพตลาดที่มีความซับซ้อนในทุกวันนี้ นอกจากนี้ ไอวีแอลได้ตั้งหน่วยบริหารจัดการงานส่วนกลางที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ดิจิทัล และการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นเลิศให้กับทุกกลุ่มธุรกิจ

การปรับโครงสร้างบริหารของไอวีแอลเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุุรกิจย่อย 16 กลุ่ม ภายใต้กลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม นำโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) หนึ่งเดียวที่ดูแลงานทั่วโลก สะท้อนความคล่องแคล่วและคล่องตัวในการจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อรองรับอุปทานที่แข็งแกร่งของลูกค้า รูปแบบธุรกิจของไอวีแอลที่บูรณาการในระดับภูมิภาคทั่วโลกได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผลดี แม้จะมีการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหลายประการในไตรมาสนี้ อาทิ ปรากฏการณ์ลมวนในเขตขั้วโลก (Polar Vortex) และเหตุการณ์เรือขวางคลองสุเอซ การที่บริษัทฯ สามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่เป็นเจ้าของเองได้ ทำให้ไอวีแอลสามารถดำเนินการผลิตในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างน่าเชื่อถือ เนื่องด้วยความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานของเราเอง

การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)

ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้กับไอวีแอลในอนาคต โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์สำหรับการรีไซเคิล พลังงานหมุนเวียน การชดเชยคาร์บอนที่มีจริยธรรม และการนำแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ บริษัทฯ มีสถานะที่เป็นเอกลักษณ์ในฐานะผู้ผลิต PET รายใหญ่ที่สุด และกำลังมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน โดยขยายการดำเนินงานให้สามารถสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของลูกค้าได้

เมื่อวันคุ้มครองโลกที่ผ่านมา ไอวีแอลได้เปิดตัวเม็ดพลาสติก PET ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral PET ซึ่งได้รับการรับรองเป็นรายแรกของอุตสาหกรรม ภายใต้แบรนด์เพื่อความยั่งยืนอย่าง Deja™ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยวัตถุที่จัดหาในท้องถิ่น ขนส่งทางน้ำซึ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับลูกค้าที่จะนำไปใช้งานต่อ ทั้งนี้แบรนด์ Deja™ จะเป็นส่วนสำคัญต่อความมุ่งมั่นของไอวีแอลที่ต้องการมีส่วนร่วมในการทำให้วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติเกิดผลสำเร็จ

โครงการ Olympus

โครงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจและต้นทุนทั่วทั้งองค์กรของไอวีแอลเดินหน้าต่อเนื่อง ด้วยผลการดำเนินโครงการที่ดีกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 21 ในปี 2563 ทำให้โครงการมีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งให้ผลตอบแทน 67 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสนี้ ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วนเท่าๆ กันระหว่างการปรับเปลี่ยนที่นำโดยกลุ่มธุรกิจหลักและการเปลี่ยนแปลงต้นทุน การดำเนินโครงการส่วนใหญ่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางการขายและการดำเนินงาน ซึ่งทำให้ไอวีแอลมีการส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาผลิตภาพและต้นทุนโดยรวม ไอวีแอลเดินหน้าทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำในการใช้เครื่องมือและแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ Olympus นำไปสู่การส่งเสริมให้ธุรกิจของไอวีแอลสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ไอวีแอลยังคงเดินหน้าตามเป้าหมาย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการดำเนินงานจำนวน  287 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับปี 2564 (เพิ่มขึ้นจำนวน 195 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2563)

 นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา ผมได้กล่าวไว้ว่าปี 2563 ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างต่ออุตสาหกรรมที่ไอวีแอลดำเนินการ และผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 นี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน รูปแบบธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์และการบริหารธุรกิจอย่างมีประสบการณ์ เสริมด้วยโครงการปรับเปลี่ยนด้านต่างๆ ของเรา จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายปี 2566 ของเรา นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะเป็นแนวทางสำคัญต่อการดำเนินงานของไอวีแอลในภายภาคหน้า เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน”