“ครูกัลยา” เตรียมเปิดหลักสูตร “ชลกร” รุ่น 1 มอบทุนเรียน-อยู่ฟรี นำร่อง ปวส. 5 วษท

137

มิติหุ้น – นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณ  พนิช) เปิดเผยว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) เตรียมจะเปิดรับนักศึกษา ระดับ ปวส. ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สาขาวิชา ช่างกลเกษตร สาขางาน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) ประจำปีการศึกษา 2564 ถือเป็นหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 ซึ่งจะเปิดสอนในเดือนมิถุนายนนี้เป็นปีการศึกษาแรก โดยจะเริ่มสอนพร้อมกันใน 5 วิทยาลัยนำร่อง ประกอบไปด้วย 1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม 2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี 3.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร 4.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ และ 5.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และจะขยายไปทุกวิทยาลัยที่มีความพร้อมในปีการศึกษาต่อไป

สำหรับหลักสูตร “ชลกร” นี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมช่วยกันพัฒนาหลักสูตรจนสำเร็จ โดยในรุ่นที่ 1 นี้ นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนฟรี งดเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร (2 ปี) แล้ว ยังมีที่พัก (หอพักในวิทยาลัย) ให้นักศึกษาทุกคนอยู่ฟรี (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละวิทยาลัย) ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ขยัน อาชีวะเกษตรและเทคโนโลยีพร้อมเปิดโอกาสให้กับทุกคน เรียกว่า เรียนฟรี อยู่ฟรี จนจบการศึกษา

“คุณหญิงกัลยา ย้ำเสมอว่าการเกษตรเป็นหัวใจของแผ่นดิน และ “น้ำ” นับเป็นต้นทางแห่งการเกษตรและชีวิตของคนไทย ไม่ว่าบ้านเมืองเราจะเผชิญอยู่ในวิกฤตและอยู่ในยามปกติสุขก็ตาม อีกทั้ง “น้ำ” ยังเป็นสายธารแห่งความยั่งยืนของชีวิต เราจึงต้องสร้าง “ยุวชลกร” ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ เมื่อชลกรเกิดเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งและเติบโตยั่งยืน” นางดรุณวรรณ กล่าว

โดยหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 จะเปิดรับสมัครนักศึกษา ระดับ ปวส. สาขาวิชาช่างกลเกษตร สาขางานบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ประจำปีการศึกษา 2564 โดยผู้สมัครจะได้รับการสนับสนุนดังนี้ 1.ได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียน โดยได้รับการงดเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 2 ปี” จากดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 2.ได้รับสวัสดิการหอพักฟรี ภายในวิทยาลัย โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้เมื่อนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรชลกร แล้วสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร, สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, สาขาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ และสามารถสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาอาชีวะเกษตร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่คุณหญิงกัลยา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งกำกับดูแลอาชีวะเกษตรและเทคโนโลยี มีการผลักดันนโยบายส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

www.mitihoon.com