DITP คุมเข้มมาตรฐานส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งไทย สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยปลอดเชื้อโควิด-19

34

มิติหุ้น – นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งในปี 2564 นี้ คาดว่ายังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยวางเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 140,256.75 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนส่งผลให้เกิดการชะลอการสั่งซื้อและชะลอการส่งมอบสินค้า ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับกระบวนการผลิต ด้วยการออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ อาหารแช่เยือกแข็ง รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก

สำหรับมาตรการดังกล่าว โดยให้ผู้ประกอบการ และ ผู้ผลิต ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ เพิ่มความเข้มข้นในการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ Ingredient และภาชนะบรรจุ  โรงงานผู้ผลิตต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการรับวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ การจัดเก็บในห้องเย็น การแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) รวมถึงมาตรการในการขนส่ง การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์  รวมทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคลของพนักงานที่ปฏิบัติงาน การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ตั้งแต่สถานที่และอาคารผลิต (Location and Manufacturing Building) ระบบสุขาภิบาล (Sanitation) การเคร่งครัดในการทำความสะอาด (Cleaning) และฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกันตามความถี่ที่เหมาะสม มีมาตรการคัดกรองบุคลากร (Personal hygiene of workers) ก่อนเข้าสถานที่ทำงาน การอบรม (Training) ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม  ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะดำเนินการไปพร้อมกับกลยุทธ์ในการส่งออกอาหารแช่เยือกแข็ง โดยมุ่งแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนให้ความสำคัญกับการทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการจัดหาแรงงาน โดยกำหนดแนวทางจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ     ให้ชัดเจน และขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการบริหารจัดการแรงงานที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพ  

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยได้ขานรับและพร้อมดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด โดยขอความร่วมมือสมาชิกในสมาคม ฯ ให้เข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นของลูกค้า

“แม้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด –19 แต่สำหรับประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหารและมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่หลากหลาย ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดตั้ง “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Thailand Delivers with Safety) พร้อมคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ อาหารแช่เยือกแข็ง รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก เป็นการตอกย้ำศักยภาพและคุณภาพของสินค้าไทยว่ามีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค” นายสมเด็จกล่าว

สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งในเดือน ม.ค. 64 มีการส่งออกอาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป (รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูปแต่ไม่รวมกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) คิดเป็นมูลค่า 9,480.46 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกลุ่มนี้ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง มูลค่า 4,557.11 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.07 ขณะที่ปริมาณการส่งออกอาหารทะเลรวม 78,056  ตัน แบ่งเป็นอาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง อยู่ที่ 18,217 ตัน ลดลงร้อยละ 16.48 อาหารทะเลกระป๋อง อยู่ที่ 50,386 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 โดยส่วนใหญ่เป็นทูน่ากระป๋อง อยู่ที่ 38,990 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 และอาหารทะเลแปรรูป อยู่ที่ 9,453 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 

ส่วนประเทศที่นำเข้าอาหารแช่เยือกแข็งจากไทยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ และแคนาดา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.37 ส่วนตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ อาร์เจนตินา ร้อยละ 194.18 อียิปต์ ร้อยละ 80.90 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 45.13 อิสราเอล ร้อยละ 42.11 ไต้หวัน ร้อยละ 40.56 โดย อาหารแช่เยือกแข็งที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับ ในปี 2563 ได้แก่ 1.ทูน่ากระป๋อง 2.ปลาแปรรูป (ทูน่า+ปลาอื่นๆ) 3.กุ้งกระป๋อง 4.อาหารทะเลกระป๋องอื่น ๆ 5.ปลาหมึกมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง

www.mitihoon.com