FPI ปักธงปี 64 เทิร์นอะราวด์ ตั้งเป้ารายได้โต 15%  

93

ผู้ถือหุ้น FPI อนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดประจำปี63 อัตราหุ้นละ 0.04 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 58.92 ล้านบาท เตรียมกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 และจ่ายเงินปัน วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ฟาก” สมพล ธนาดำรงศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ ระบุปีนี้จะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ จากแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 15% ขณะที่ธุรกิจใหม่ ดีไซน์รถยนต์ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ช่วยสนับสนุนการทำกำไรได้ดีขึ้น สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นสม่ำเสมอ  

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ หรือ FPI เปิดเผยว่าที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี2563 ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.04 บาท จากกำไรสะสมและจากผลการดำเนินงานสำหรับปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. 2563 ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งถือหุ้นรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,473,029,934 หุ้น รวมเป็นเงินปันผลจ่ายในครั้งนี้ 58,921,197.36 บาท ซึ่งให้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล(Record Date)  ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลภายใน วันที่ 21 พฤษภาคม 2564

ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทฯจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทฯยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้กับผู้ถือหุ้น   ขณะที่ในปีนี้คาดว่าภาพรวมของธุรกิจจะมีการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน จากงานในมือที่มีอยู่ และจะทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามกำหนดอย่างแน่นอน”

กรรมการผู้จัดการกล่าวอีกว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตที่ระดับ15% ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ามีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาคึกคัก ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้กว่า 700 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ปีนี้ประมาณ 50%     ส่วนหนึ่งมาจากโรงงานในประเทศอินเดียเริ่มกลับมาผลิตส่งมอบได้ตามปกติ หลังจาก  Project เลื่อนการส่งมอบกว่า 1ปี และในปี2564ในช่วงต้นปี ได้รับprojectใหม่ล่าสุดจาก SUZUKI อีกกว่า 160 ล้านรูปี ซึ่งคาดว่ารายได้จาก FPI India จะเติบโตอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี2563 ที่ผ่านมา 

สำหรับงาน  OEM  ในประเทศ บริษัทได้ความไว้วางใจจากค่ายรถMitsubishi ให้เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดแต่งให้กับค่าย  Mitsubishi และได้รับ  project  แรกที่เป็นFirst tier จากค่าย  Mitsubishi ประมาณ  30  ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้นในอนาคต 

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะรุกขยายธุรกิจใหม่ ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจประเภท ดีไซน์รถยนต์  หรือการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของรถยนต์ โดยใช้เทคโนโลยี 3D Printing ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะตลาดรถหรู โดยบริษัทฯ  มีแผนจะเจาะลูกค้าระดับบน เพราะหลังจากทดลองผลิตไปแล้วได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งมีแผนจะรุกธุรกิจให้คำปรึกษาในการด้านพลังงาน และนวัตกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืน สามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจใหม่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี