COTTO อวดกำไรQ1/64พุ่ง50%-ยอดขายล้นทะลัก

662


ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น”รายงานว่า บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO โดย “นายนำพล มลิชัย”  กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส1/64 บริษัทมีกำไรอยู่ที่ 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ส่วนรายได้จากการขาย 2,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายเพิ่มขึ้น

“การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสูงขึ้นและทำให้สินค้าจากจีนรวมทั้งกระเบื้องเซรามิกนำเข้ามีราคาสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการภายในประเทศโดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างจึงเลือกที่จะสต็อกสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับการที่บริษัทมีแหล่งนำเข้าสินค้ากระเบื้องเซรามิกจากหลากหลายประเทศทำให้สินค้ากระเบื้องเซรามิกนำเข้าของบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น” นายนำพล กล่าว

พร้อมกันนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญกับโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้าง ทั้งในฐานะที่เป็นลูกค้าและเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญของบริษัทด้วย มีผลทำให้ยอดขายในไตรมาส 1/64 สูงขึ้น นอกจากนี้จากการที่ภาครัฐให้โครงการของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจากพัสดุในประเทศมากขึ้นไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่ใช้ ยังเป็นผลดีต่อผู้แทนจำหน่ายคู่ค้าสำคัญซึ่งเป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีฐานลูกค้างานภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจในจุดแข็งเรื่องช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย ร่วมกับประสบการณ์ในการบริหารจัดการช่องทางจัดจำหน่ายแต่ละรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์การโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นร้านผู้แทนจำหน่าย ร้านโมเดิร์นเทรด คลังเซรามิค COTTO Life ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งแต่ละช่องทางต่างมีจุดเด่นที่จะตอบสนองความต้องการและเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมและสามารถเติมเต็มการให้บริการครบวงจร คาดว่าจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงสินค้าของบริษัทจากหลากหลายช่องทางได้อย่างสะดวกสบายเหมือนภาวะปกติ

อีกทั้งบริษัทยังได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยเพิ่มเติมการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ช่วยให้สามารถบริหารจัดการช่องทางจัดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้มองว่าในปี 64 คาดว่ายังมีการลงทุนใน “กลุ่มอสังหาฯ” ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของการอยู่อาศัยจริง และมาจากความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นจะยังคงมีสินค้าที่น่าจะได้รับผลเชิงบวก คือ กลุ่มสินค้าโครงสร้างรวมทั้งกลุ่มสินค้าตกแต่ง เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ เชื่อว่าในช่วงสั้น ๆ สถานการณ์ตลาดในประเทศจะยังทรงตัวในลักษณะนี้ต่อไป โดยอาจจะมีปัจจัยหนุนจากแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐ

www.mitihoon.com