ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 1 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น HFT

34

มิติหุ้น – ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 1 ราย คือ นางสาวต้องใจ จิตรจรูญสวัสดิ์ (นางสาวต้องใจ) กรณีซื้อหุ้นบริษัท ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (HFT) โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 722,116 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์) และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 นางสาวต้องใจ รองหัวหน้าฝ่ายบัญชีของ HFT ซึ่งรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ของบริษัท HFT ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และได้ซื้อหุ้น HFT ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 จำนวนรวม 248,500 หุ้น ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินการดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562

การกระทำของนางสาวต้องใจเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) มาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(2) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนางสาวต้องใจ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด คิดเป็นเงินรวม 722,116 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำความผิดเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 12 เดือน

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ

ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

www.mitihoon.com