พ.ร.ก.Soft loan – Asset Warehousing มีผลบังคับใช้ ส่งผลบวกต่อกลุ่มแบงก์

1148

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า จากกรณีภาครัฐได้ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการคือ   1.) สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ(Soft loan) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท   2.) สนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (Asset Warehousing) วงเงิน  1 แสนล้านบาทนั้น

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส มองบวกเล็กน้อย จากการรับรู้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีตามหลัก Effective interest rate (EIR) ในอัตราไม่เกิน 5% (2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี) สูงจาก Soft loan เดิมที่ 2% ต่อปี (2 ปี) หวังจูงใจให้ ธ.พ. ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจาก Soft loan วงเงิน 5 แสนล้านบาทอันเดิม มีการเบิกใช้สินเชื่อเพียง 1.33 แสนล้านบาท แต่การที่ภาครัฐค้ำประกันเพียง 40% ของวงเงิน ยังเป็น Credit risk ที่ ธ.พ. ต้องคำนึงในการปล่อยสินเชื่อใหม่ จึงคาดผลต่อกำไรกลุ่มฯ จำกัด ทั้งนี้ KBANK  ที่มีสัดส่วนลูกค้า SME ราว 33% ของพอร์ตสินเชื่อได้เปรียบสุดในกลุ่มฯ

 

มาตรการโกดัง เก็บหนี้ (Asset Warehousing) ให้ลูกหนี้สามารถขายสินทรัพย์ เช่น โรงแรม ให้กับธนาคาร ในราคาที่ตกลงกัน (ราคาตีโอน) และให้สิทธิลูกหนี้ในการเช่ากลับและซื้อคืนในราคาตีโอน ในระยะเวลา 3 – 5 ปี ภายใต้วงเงินจาก ธปท. 1 แสนล้านบาท (สินเชื่อโรงแรมทั้งระบบ 4 แสนล้านบาท) โดย ASPS ประเมิน    KBANK  และ SCB ที่พอร์ตสินเชื่ออิงกับภาคท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มฯ น่าจะได้ประโยชน์ เพราะทางบัญชีรายการสินเชื่อจะถูกปรับเป็นสินทรัพย์อื่น คาดทำให้ ธ.พ. ไม่ต้องนำสินทรัพย์มาจัดชั้น โดยภายหลังครบกำหนด 5 ปี หากลูกหนี้ไม่ซื้อกลับคืน ธนาคารจะนำสินทรัพย์ออกขาย เพื่อนำเงินมาชำระคืน ธปท. ภาพรวมช่วยลดปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ช่วงสั้น

โดยรวมคำแนะนำกลุ่ม BANK  คงน้ำหนัก เท่ากับตลาด ชอบ TISCO(FV@B102) งบการเงินแกร่งและ Div yield สูงราว 7% ตามด้วย ธ.พ. ใหญ่ อย่าง BBL(FV@B154) ที่ราคา Laggard กลุ่มฯ และ PBV ซื้อขายเพียง 0.5 เท่า และ KBANK(FV@B155) Upside เริ่มจำกัด แนะนำ Trading