STARK เนื้อหอม! สถาบันไทย-ตปท.ถือหุ้น

181

มิติหุ้น – บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK เผยสถาบันทั้งไทย และต่างประเทศ ร่วมถือหุ้นดันสัดส่วนการถือครองแตะ 10% ผู้บริหารระบุเป็นพันธมิตรที่อยากโตไปด้วยกัน เพราะเชื่อมั่นธุรกิจแกร่ง มีศักยภาพผลักดันการเติบโตก้าวกระโดด จากแนวโน้มอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและเคเบิ้ลโตทะลัก ฟาก”ชนินทร์ เย็นสุดใจ”ตั้งเป้าสร้างผลงานนิวไฮต่อเนื่อง ปักธงปี64 เติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20%

นายชนินทร์ เย็นสุดใจ  ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปิดเผยว่า จากการปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 พบว่ากลุ่มผู้ลงทุนสถาบันทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นจำนวนมาก ส่งผลให้สถาบันมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมอยู่ที่ 5% ขณะที่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ยังครองสัดส่วนการถือครองอยู่ที่ 70% ที่เหลือเป็นผู้ลงทุนรายบุคคล และอื่นๆ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ ที่เข้ามาถือหุ้นประกอบด้วย บลจ.บัวหลวง ถือหุ้น 157 ล้านหุ้น , บลจ.ไทยพาณิชย์ ถือหุ้น 95 ล้านหุ้น, บลจ.เกียรตินาคินภัทร ถือหุ้น 101 ล้านหุ้น,บลจ.กรุงไทย ถือหุ้น 59 ล้านหุ้น, บล.เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย)ถือหุ้น 13 ล้านหุ้น, บลจ.เอ็มเอฟซี ถือหุ้น 11 ล้านหุ้น, บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ถือหุ้น 10 ล้านหุ้น, บลจ.กสิกรไทยถือหุ้น 9 ล้านหุ้น และกลุ่มบริษัท บีทีเอส ถือหุ้น 35 ล้านหุ้น

กลุ่มสถาบันต่างประเทศ ประกอบด้วย  บล.เครดิตสวิสถือหุ้น 108 ล้านหุ้น, ธนาคารเอชเอสบีซีถือหุ้น 109 ล้านหุ้น, แบงค์ ออฟ สิงคโปร์ ถือหุ้น 108 ล้านหุ้น, ธนาคารเซาธ์ อีส เอเซีย ถือหุ้น 66 ล้านหุ้น, ยูบีเอสถือหุ้น 48 ล้านหุ้น เป็นต้น  รวมทั้งยังมีกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล นายนเรศ งามอภิชน เป็นต้น

“ที่ผ่านมา กองทุนขนาดใหญ่ได้ให้ความสนใจ และติดต่อขอข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทฯ โดยเฉพาะแผนการดำเนินธุรกิจมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ขณะที่อุตสาหกรรมสายไฟฟ้า และสายเคเบิ้ล มีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างโดดเด่นจากความต้องการใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สามารถสร้างผลงานนิวไฮได้อย่างต่อเนื่อง”

ประธานกรรมการ กล่าวอีกว่า การที่กลุ่มสถาบันได้เพิ่มสัดส่วนถือครอง ส่งผลให้จำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาด (free float) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29% จากเดิม 21%

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ตั้งเป้าหมายรายได้ในปีนี้ เติบโต 15-20% และมั่นใจว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่อง โดยจะมาจากรายได้หลักคือ ธุรกิจสายไฟฟ้า และสายเคเบิ้ล มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีไปพร้อมกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทยังมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเป็นงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทยอยรับรู้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทฯมีความพร้อมที่จะยื่นเข้าประมูลงานโครงการใหม่อีกจำนวนมาก

ส่วนกลยุทธ์ในการบริหารในปีนี้จะมุ่งเน้นการขายสินค้าในกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรได้สูง (High Margin) โดยเฉพาะกลุ่มสายไฟแรงดันระดับกลาง จนถึงระดับสูงพิเศษที่มีการเติบโตสูง เพื่อรองรับโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน พร้อมกับการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบริหารจัดการร่วมกันของกลุ่มบริษัท จะช่วยให้เพิ่มความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น

www.mitihoon.com