“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19”

102

มิติหุ้น – ตามที่ทราบกันดีว่า ปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงอายุ (Aging Society) สู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ ว่า เราจะพบผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุก ๆ 5 คน และจากข้อมูลที่พบคือขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น แต่เงินออมเพื่อรองรับการเกษียณกลับมีไม่เพียงพอและผู้สูงอายุไม่สามารถพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานได้เหมือนในอดีต จึงทำให้ขาดรายได้หล่อเลี้ยงชีพและขาดความมั่นคงทางการเงิน ดังนั้น การออมเพื่อรองรับการเกษียณจึงเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บออมระยะยาวผ่านกลไกการออมการลงทุนในช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการออมและการลงทุนแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันรองรับการเกษียณ

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบให้ธุรกิจบางรายต้องเลิกกิจการ ลดจำนวนลูกจ้าง ปรับลดเงินเดือน และยกเลิกสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด เป็นผลให้สมาชิกและนายจ้างบางกลุ่มเลื่อนหรือหยุดส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้า PVD รวมถึงนายจ้างบางรายจำเป็นต้องขอลดเงินสมทบ และเพื่อนสมาชิกบางท่านตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิก PVD เพื่อนำเงินที่สะสมไว้มาจุนเจือสภาพคล่องให้แก่ครอบครัว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ละทิ้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่มีแหล่งเงินออมอื่นที่เตรียมพร้อมสำหรับใช้เลี้ยงชีพหลังเกษียณ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวล้วนส่งผลให้เป้าหมายการมี PVD เพื่อรองรับการเกษียณของกลุ่มลูกจ้างยิ่งห่างไกลออกไป

ข้อมูลสถิติในปี 2563 พบว่า สมาชิก PVD มีจำนวนน้อยกว่า 3 ล้านคน เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี แม้ว่าในช่วงระหว่างปีจะมีจำนวนนายจ้างที่มี PVD เพิ่มขึ้น 513 ราย หรือ 2.6% จากปี 2562 แต่จำนวนสมาชิก PVD ทั้งระบบกลับลดลงสุทธิถึง 159,558 ราย หรือ 5.2% (ค่าเฉลี่ยปกติจำนวนสมาชิกเพิ่มปีละประมาณ 3%) ซึ่งมีทั้งสมาชิกที่ลาออกจากกองทุนแต่ยังทำงานอยู่ ลาออกจากงานไปเลยและเกษียณอายุ ส่งผลให้สัดส่วนสมาชิก PVD เทียบกับจำนวนแรงงานเอกชนในระบบ ในปี 2563 ปรับตัวลดลงเป็น 18.8% จากที่เคยอยู่ที่ 20.2% เมื่อปี 2562  นอกจากนี้ ในส่วนของนายจ้างพบว่า มีจำนวนนายจ้างขอยกเลิก PVD ทั้งที่เป็นการยกเลิกสวัสดิการหรือเลิกกิจการ จำนวน 462 ราย ซึ่งมีลูกจ้างที่อยู่ภายใต้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 18,736 ราย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะเดียวกันมีนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้แต่ยังคงสวัสดิการ PVD ให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งได้ขอปรับลดอัตราเงินสะสม-สมทบลง จำนวน 517 ราย (ก.พ.-ธ.ค. 63) โดยมีลูกจ้างที่อยู่ภายใต้นายจ้างกลุ่มนี้จำนวน 78,958 ราย

สถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นี้ COVID-19 ยังเป็นตัวเร่งให้เพื่อนสมาชิกที่ได้รับผลกระทบนำเงินออกจาก PVD โดยมียอดการจ่ายเงินที่เกิดจากการลาออกจากงานและการลาออกจากกองทุน รวมทั้งสิ้น 73,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 47% โดยแบ่งเป็นเงินที่จ่ายให้แก่สมาชิกที่ออกจากงานจำนวน 51,680 ล้านบาท และเงินที่คืนให้แก่สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนแต่ไม่ลาออกจากงานจำนวน 22,024 ล้านบาท ซึ่งการนำเงินออกจาก PVD ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม อาจเกิดความเสี่ยงทำให้มีเงินออมไม่เพียงพอในยามเกษียณ ซึ่งเพื่อนสมาชิกที่ต้องการลาออกจากกองทุนแต่ไม่ลาออกจากงานจะต้องศึกษาข้อบังคับกองทุนของตนให้ดี เพราะกองทุนหลายแห่งมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้กลับมาเป็นสมาชิกอีก

หากวันข้างหน้าสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ผู้เขียนขอชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้ PVD เป็นหลักประกันรองรับการเกษียณของกลุ่มลูกจ้างท่ามกลางสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ด้วยการร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ให้ลูกจ้างและนายจ้าง เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเกษียณ พร้อมกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการออมการลงทุนระยะยาวเพื่อผลักดันให้ PVD เป็นเครื่องมือสำคัญในการออมเพื่อการเลี้ยงชีพหลังเกษียณสำหรับลูกจ้างทุกคน นอกจากลูกจ้างจะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังมีมืออาชีพช่วยบริหารเงินออมให้และมีนโยบายการลงทุนให้เลือกได้หลากหลายทั้งการลงทุนในและต่างประเทศอีกด้วย

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้ PVD เป็นเครื่องมือการออมรองรับการเกษียณ และให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ด้านการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ โดยขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นศูนย์กลางความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ PVD เพื่อให้เพื่อนสมาชิก รวมถึงนายจ้างและคณะกรรมการกองทุน ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ เช่น ข้อมูลกองทุนที่ช่วยให้ตัดสินใจลงทุนอย่างเพียงพอและง่ายต่อการเปรียบเทียบ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านเตรียมพบกับเว็บไซต์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพโฉมใหม่และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนสมาชิกจะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการทำให้ PVD เป็นเงินออมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งในการเลี้ยงชีพหลังเกษียณได้

โดย นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

*** ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

www.mitihoon.com