IFS บริหารชั้นเซียนคุม NPL ปลุกกำไร143ล.-ราคาLaggard(17/02/64)

209

มิติหุ้น – IFS ผลงานโค้งหลังเร่งตัวสวยตามเศรษฐกิจฟื้น ได้ลูกหนี้ชั้นดีเดินหน้าชำระสินเชื่อตามปกติ บวกกับคุมเข้ม NPL ไม่ถึง 3% หนุนผลงานโตต่อเนื่อง ฟากโบรกมองกำไรโต 7.8% จากปีก่อน หรือราว 143 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นยัง Laggard กลุ่ม เป้าหมาย 2.96 บาท เคาะ “ซื้อ”

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) หรือ IFS ผู้ให้บริการสินเชื่อ Factoring โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 นี้ ยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19

บริหารลูกหนี้ชั้นเยี่ยม-กดNPLอยู่หมัด

ขณะที่บริษัทยังรักษาฐานลูกค้าเดิมและพยายามขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยยังระมัดรัวังในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อคุมระดับ NPL ไม่ปรับตัวขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการบริหารจัดการลูกหนี้ของบริษัท ยังไม่พบว่ามีรายใดเป็นหนี้เสีย และยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จึงถือเป็นกลุ่มลูกหนี้ชั้นดี ดังนั้น จากการชำระหนี้ที่ปกติจึงทำให้ยอดหนี้ลดลง และทำให้ระดับ NPL ของบริษัทคงอยู่ในระดับไม่ถึง 3%

อย่างไรก็ดี ในปี2564 นี้ บริษัทเชื่อมั่นจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากปี 63 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่มีการเปิดเมือง จะทำให้สถานการณ์ด้านการขยายตลาดสินเชื่อดีกว่าครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไว้สูงกว่าปี63 แต่จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง

กำไรฟื้นตัว-ราคา Laggardกลุ่ม

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ฝ่ายวิจัยมอง IFS เป็นหุ้น Non-Bank ที่กำไรอยู่ระหว่างฟื้นตัว ขณะที่ในแง่ Valuation ค่อนข้าง Laggard จากกลุ่ม โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PBV 0.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีย้อนหลังของบริษัทที่ 1.1x และต่ำกว่า PBV เฉลี่ยในอดีตของคู่แข่ง (LIT 1.3เท่า และ AIRA 2.4เท่า)

ทั้งนี้ราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2564 ที่ 2.96 บาท (อิงวิธี Gordon Growth Model โดย Ke=10.8%, Sustainable ROE=10%, LTG=2%) นอกจากคาด IFS ยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลใกล้เคียงกับในอดีตที่ Div. Payout 50% คิดเป็น Div. Yield 5.5% จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”

นอกจากนี้ จากการที่เคยสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากผู้บริหารของ IFS ระบุว่า ลูกหนี้ที่เหลืออยู่ในพอร์ตส่วนใหญ่มีสถานะการเงินที่แข็งแรง มีการชำระหนี้ดี ด้วยภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น คาดทำให้ปริมาณการทำธุรกรรม Factoring ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยประเมินกำไรสุทธิปี 2564 ไว้ที่ 143 ล้านบาท โต 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 

www.mitihoon.com