TNH ทุ่ม300ล. ผุดศูนย์รังสี เสริมศักยภาพการรักษา

290

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) โดย “นายฐิติ สิหนาทกถากุล” ประธานบริหาร กล่าวว่า ในปี 64 โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ตั้งใจยกระดับคุณภาพการรักษาโรคซับซ้อน และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ภายใต้แนวคิด Personalized Healthcare…เชื่อมั่นทุกการรักษา มุ่งหวังเป็น Hospital of Choice โรงพยาบาลอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฝั่งตะวันออก และภูมิภาคตะวันออก โดยนำจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เทคโนโลยีที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล บริการอบอุ่นและใส่ใจเหมือนคนในครอบครัว มาออกแบบการรักษาและบริการในลักษณะเจาะจงเป็นรายบุคคล เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดี สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้รับบริการ

โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง จากที่ปัจจุบันเรามีศูนย์มะเร็ง (Cancer Center) อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราจะทำคือการเพิ่มศูนย์รังสีรักษา หรือ Linac Center พร้อมจัดซื้อเครื่องฉายรังสี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยโครงการนี้มีการดำเนินการตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และมีกำหนดการแล้วเสร็จภายใน ปี พ.ศ.2565 พร้อมเปิดศูนย์ให้บริการเพิ่มเติม ได้แก่• ศูนย์ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation Center) • ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Electrophysiology Lab) • ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม (Thainakarin Wellness Center) เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ด้วยงบประมาณลงทุนราว 300 ล้านบาท

“โรงพยาบาลเห็นว่า ธุรกิจยังมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพตะวันออกและภูมิภาคตะวันออก เนื่องจากประชากรในพื้นที่ยังมีความต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งที่มีความพร้อม ทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์เทคโนโลยี โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีความมุ่งหวังว่าจะเป็นโรงพยาบาลอันดับหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพภาคตะวันออกและภูมิภาคตะวันออก ให้บริการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เข้าถึงผู้คนในทุกระดับ มีโอกาสในการรักษาโรคยาก โดยไม่ต้องเดินทางเข้าในตัวเมือง หรือสถานที่ห่างไกล” นายฐิติกล่าว

นายแพทย์อาคม เชียรศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวถึงการสร้างอาคารรังสีรักษา พร้อมเครื่องฉายรังสี ในครั้งนี้ “ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นโรคเฉพาะบุคคล เนื่องจากเป็นโรคที่มีความผิดปกติอยู่ที่ DNA ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน ขณะนี้วงการแพทย์เองก็สามารถที่จะถอดรหัสของ DNA มะเร็งที่พบในผู้ป่วย นำไปสู่การรักษาที่ค่อนข้างจะเป็นเฉพาะบุคคล

“การรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดในปัจจุบันเป็นการรักษาแบบผสมผสาน ประกอบด้วย ศัลยกรรม ยา และการฉายรังสี ในส่วนของศูนย์รังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เรามีกระบวนการ และเครื่องมือ ที่จะนำไปสู่ตำแหน่งหรือพิกัดของโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจน มีการนำภาพเอกซเรย์ CT มาช่วยในการกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสี ทำให้รังสีสามารถที่จะทำลาย DNA ของเซลล์มะเร็งได้มากที่สุด และเกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงน้อยที่สุด โดยเครื่องฉายรังสี VitalBeam ที่จะนำรังสีไปสู่ตำแหน่งหรือพิกัดของโรคมะเร็งได้ชัดเจน ด้วยเทคนิคการรักษาตั้งแต่แบบธรรมดาไปจนถึงเทคนิคซับซ้อน ได้แก่

• เทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้มพร้อมหัวเครื่องหมุนรอบตัวผู้ป่วย (Volumetric Modulated Radiation Therapy, VMAT) ปรับอัตราปริมาณรังสีที่ออกมาต่อหน่วยเวลาและความเร็วของเครื่อง ลดระยะเวลาในการฉายรังสีลง ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็ง
• เทคนิคการรักษาแบบรังสีรักษาร่วมพิกัด (Stereotactic Body Radiation Therapy, SBRT) เป็นการฉายรังสีในปริมาณรังสีสูง โดยใช้ลำรังสีขนาดเล็กหลายทิศทางในการกำหนดพิกัดสามมิติ พุ่งตรงสู่รอยโรคที่กำหนด
• เทคนิคการรักษาแบบปรับความเข้มจากการเคลื่อนของวัสดุกำบังรังสีรูปซี่ (Intensity Modulated Radiation Therapy, IMRT) ลำรังสีสามารถไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ
เครื่องฉายรังสีของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ยังสามารถให้บริการการรักษาแบบสี่มิติที่ฉายรังสีตามจังหวะการหายใจของผู้ป่วย (4D-Radiotherapy) ทั้งหมดนี้ เพื่อการฉายรังสีรักษารอยโรคมะเร็งมีความถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย และได้คุณภาพการรักษาที่ดีสำหรับผู้ป่วยทุกคน” นายแพทย์อาคมกล่าว

พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม (THAINAKARIN WELLNESS CENTER) พร้อมผนึกกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มศักยภาพการรักษาดูแลสุขภาพ มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนการเกิดโรค โดยบริการตรวจสุขภาพเชิงลึกถึงสภาวะที่แท้จริงของร่างกาย

“ปัจจุบันการดูแลสุขภาพจะเน้นที่การตรวจสุขภาพ เพื่อพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาและป้องกันโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นจุดแข็งของโรงพยาบาลไทยนครินทร์อยู่แล้ว และทางศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม (THAINAKARIN WELLNESS CENTER) มีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่อนาคตของการดูแลสุขภาพ คือ ‘Optimal Health’ ด้วยการดูแลสุขภาพให้อยู่ในภาวะที่สมบูรณ์สูงสุด โดยการตรวจวิเคราะห์สุขภาพในเชิงลึกให้เห็นถึงสภาวะการทำงานที่แท้จริงของร่างกาย เพื่อวางแผนในการดูแลสุขภาพอย่างจำเพาะเจาะจง เพิ่มความแข็งแรง ป้องกันการเกิดโรค ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้แก้ปัญหาสุขภาพได้ตรงความต้องการ และใช้ชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด ทั้งในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เดิม หรือคนที่ต้องการฟื้นฟูตนเองจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็ตาม” แพทย์หญิงอรกมลกล่าว

นอกจากโรคมะเร็งแล้ว โรคไตก็เป็นอีกปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิต ผศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวถึงความพร้อมในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

“ศูนย์ปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีประสบการณ์ในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เริ่มตั้งแต่ ปี 2539 โดยทีมแพทย์ปลูกถ่ายไตหลากหลายแขนงที่มีประสบการณ์สูงจากสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย เป็นโรงพยาบาลสมาชิกสามัญของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย จึงมีความพร้อมที่ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีความซับซ้อนเพื่อทำการปลูกถ่ายไตทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด และโรคที่เกี่ยวเนื่องภายหลังการปลูกถ่ายไต

“จากงานวิจัยทั่วโลกและประเทศไทยมีข้อมูลรายงานไปในทางเดียวกันว่า อัตราการอยู่รอดของชีวิตที่ 5 ปีภายหลังป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีอัตราการอยู่รอดประมาณร้อยละ 75 แต่สำหรับผู้ป่วยที่ใช้วิธีการบำบัดทดแทนไตจะมีอัตราการอยู่รอดประมาณร้อยละ 35 กล่าวง่ายๆ คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและมีชีวิตยืนยาวกว่านั่นเอง”

www.mitihoon.com