TMB Analytics ประเมินแนวโน้มสินค้าภาคเกษตรไทยปี 2564 ฟื้น  

446

มิติหุ้น – ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ภาคเกษตรไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เพราะว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญในสินค้าเพื่อบริโภคอุปโภค ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงให้ความต้องการของสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาปรับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ สร้างรายได้ภาคเกษตรไทยกว่า 8.75 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากสินค้าพืชหลัก ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน  สินค้าจากการประมง และกลุ่มการเลี้ยงไก่ สุกร เป็นต้น

แม้ว่าในช่วงปีก่อนจนถึงต้นปีนี้ ประเทศไทยยังคงประสบกับภัยแล้งอยู่ ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรบางส่วน แต่แนวโน้มผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มลดลง จะช่วยให้ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของไทยมีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics จึงใช้ข้อมูลสถานการณ์อุปทานของพืชเกษตรสำคัญแต่ละประเภท มาวิเคราะห์ร่วมกับภาวะอุปสงค์จากตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกหลักของไทย เพื่อประเมินแนวโน้มสถานการณ์ของภาคเกษตรให้ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ของภาคเกษตรในปี 2564 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ 8.96 แสนล้าน จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในปีนี้จะยังคงขยายตัวจากปีก่อนที่ร้อยละ 1.4 จากความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน ในขณะที่ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อนนี้ จากอานิสงส์ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ส.ค. ปี 2563 ซึ่งเป็นผลดีต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูกาลผลิต  ในขณะที่ช่วงต้นปี บางพื้นที่อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอใช้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดต่ำลงในช่วงต้นปี 2564 โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ส่งผลให้ในช่วงนี้ ผลผลิตของการปลูกพืชในเขตชลประทานมีแนวโน้มลดลง

หากเจาะลึกลงไปในด้านอุปทาน พบว่าสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรในระดับภูมิภาค ตามการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณน้ำฝนทั้งประเทศในปีนี้จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10-15 โดยคาดว่าปรากฏการณ์ลานีญาจะกลับมาอีกครั้ง และทำให้ปริมาณฝนตกมากขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค. ซึ่งดีกว่าปีก่อนที่ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 20 โดยภูมิภาคที่ได้รับอานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนมากที่สุดได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร

สำหรับในด้านอุปสงค์ของสินค้าการเกษตร  ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้นำการคาดการณ์ตลาดสินค้าเกษตรมาประเมินร่วมกับแนวโน้มอุปทานข้างต้น ทำให้สามารถประเมินแนวโน้มสินค้าเกษตรในปี 2564 เป็น 2 กลุ่มสินค้า ตามการขยายตัวของรายได้ ดังนี้

  1. สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดี

เนื้อสัตว์ สุกร และไก่ แนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง และเราชนะ นอกจากนี้ การขยายตัวของการส่งออกลูกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์สุกร (African Swine Fever) และการส่งออกเนื้อแปรรูปไปยังประเทศฮ่องกง และจีน ที่เติบโตขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้รายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9%

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากภายในประเทศและส่งออก ในขณะที่ภาคเหนือซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงที่สุด ได้รับอานิสงส์จากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 20% ทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับราคา ในภาพรวมคาดการณ์ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1%

ยางพารา แนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ยางพาราจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ยางเพื่อผลิตถุงมือทางการแพทย์ ต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ในภาพรวมคาดการณ์ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.3%

  1. สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทรงตัว

ข้าว ผลผลิตปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แม้พื้นที่ปลูกข้าวเขตชลประทานในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่างจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณต่ำ อย่างไรก็ตามในด้านอุปสงค์ความสามารถในการแข่งขันราคาส่งออกข้าวไทยที่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง จากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นทำให้ราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมากทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด ทำให้คาดการณ์ว่ารายได้จากข้าวจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.7 จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก

มันสำปะหลัง มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีน เพื่อนำไปใช้ผลิตเอทานอลทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาสูงและมีปริมาณสต็อกคงเหลือลดลง ซึ่งหากวัดตามมูลค่าส่งออกแล้ว ตลาดจีนมีมูลค่ามากถึงร้อยละ 66 ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังมีแนวโน้มชะลอตัวจากความเสี่ยงการถูกกดราคารับซื้อหัวมันสดจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คาดการณ์ว่ารายได้จากมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.8%

ปาล์มน้ำมัน ในปีนี้ระดับราคายังมีระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน อานิสงส์จากอุปสงค์ตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากนโยบายใช้ดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐาน และอุปสงค์เพื่อนำไปใช้ทำอาหารปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ผลผลิตอยู่ในระดับใกล้เคียงจากปีก่อน จึงคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 1.3%

อ้อย ผลผลิตในประเทศปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวลงจากการตัดสินใจลดการผลิตของเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากราคาอ้อยที่ตกต่ำในปีก่อนและปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำตาลที่ผลิตเพื่อส่งออกมีปริมาณน้อยลง ประกอบกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงิน คาดการณ์ว่ารายได้จากอ้อยและน้ำตาลจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.6%

อาหารทะเล แม้ว่าภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารทะเลของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีก่อนในด้านอุปสงค์ จากการที่ EU ปลดสถานะใบเหลืองให้แก่ไทย ในประเด็น Illegal Unreported and Unregulated Fishing (IUU Fishing) อย่างไรก็ตามแรงกดดันการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศลดการบริโภคอาหารทะเลและหันไปซื้อเนื้อสัตว์ที่มีราคาต่ำกว่า นอกจากนี้ การที่สินค้าไทยไม่ได้ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในตลาดสหรัฐฯ และ EU ส่งผลให้อาหารทะเลไทยมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะจีน อินเดีย และเวียดนาม ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยกดดันให้อุปสงค์ และอุปทานอยู่ในระดับที่จำกัดต่อไป โดยคาดการณ์ว่ารายได้ในกลุ่มนี้จะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.8%

จากแนวโน้มสินค้าเกษตรที่ประเมินไว้ เนื่องจากโครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาตลาดส่งออกซึ่งมีการแข่งขันสูง และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2564 จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ลดทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถควบคุมระดับอุปทานให้มีปริมาณที่เหมาะสมและต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนที่ช่วยประกันความเสี่ยงด้านราคาจากภาครัฐ จะช่วยให้สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยหล่อเลี้ยงเกษตรกรและเศรษฐกิจภายในประเทศได้

www.mitihoon.com