UWC ส่งสัญญาณบวก รีสตาร์ทธุรกิจใหม่ ผุดโปรเจ็กต์ใหญ่ ขยายธุรกิจเทเลคอมในต่างประเทศ

328

 

มิติหุ้น-หลังงบปี 63 ดีขึ้นในรอบ 3 ปี เคลียร์ภาระหนี้กว่า 900 ล้าน เดินหน้าสร้างธุรกิจทั้งไฟฟ้าและเทเลคอมทั้งในและต่างประเทศ 

นายธีรชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยตัดขายธุรกิจที่ขาดทุนและหยุดกิจการที่ไม่สร้างผลกำไร   โดยในรอบปี 2563 ยอดขาดทุนสุทธิทางบัญชีประมาณ 310 ล้าน กว่า 90% มาจากการด้อยค่าในบริษัทย่อยและการขาดทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งบริษัทได้หยุดธุรกิจในบริษัทย่อยเหล่านั้นแล้ว และได้ขายธุรกิจโรงไฟฟ้าแล้วตั้งแต่สิงหาคม 2653 ที่ผ่านมา   ทั้งนี้ในปี 2563 บริษัทสามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) ได้ 12.45 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 303 ล้านบาท  รวมทั้งได้ลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 10 ล้านบาท จากการชำระคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนด

ในปี 2564 ยังคงมีงานโครงการระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นแผนงานระยะยาวที่กฟผ.ได้วางแผนไว้ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลงานในปี 2564 จากแผนพัฒนาปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า  โดยมีมูลค่าเฉพาะงานโครงสร้างเหล็ก (Steel Structure) กว่า 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะได้รับงานจากการเปิดประมูลดังกล่าวไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท นอกจากงานโครงการเสาส่งของกฟผ. บริษัทจะใช้จุดแข็งที่มีทั้งความชำนาญและเครื่องจักรที่สามารถผลิตชิ้นงานโลหะที่ใช้กับงานก่อสร้าง โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกในพื้นที่ EEC ซึ่งจะทำให้รายได้ของ UWC นับจากนี้ มีมากกว่างานโครงการระบบส่งไฟฟ้าของกฟผ.

มากไปกว่านั้น UWC ได้เริ่มธุรกิจด้านเทเลคอมในต่างประเทศ โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในนามบริษัท SkyTowers Infra Inc. ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าเสาโทรคมนาคม (Tower Co) กับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (Mobile Network Operator) เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณสื่อสาร

บริษัทได้ตัดสินใจเข้าลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีประชากรกว่า 109 ล้านคน เพราะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างมากในอีก 4-5 ปีจากนี้  และเป็นประเทศ 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมสูงสุด

รูปแบบธุรกิจ Tower Co ในต่างประเทศนี้จะเปลี่ยนไปจากการผลิตและจำหน่ายเสาเทเลคอมในประเทศ  ไปเป็นรูปแบบที่บริษัทเป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยสร้างสถานีสื่อสาร (Cell Site) และให้เช่าพื้นที่กับบริษัทผู้ให้บริการมือถือ  ซึ่งเป็นโมเดลที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากทุกสถานีสื่อสารที่จะสร้างขึ้นจะมีการยืนยันการเช่าจากลูกค้าแล้ว และเป็นการทำสัญญาเช่าในระยาว 15 ปี (สามารถต่ออายุเพิ่มอีก 10 ปี)  ทั้งนี้บริษัทสามารถให้เช่าพื้นที่กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า 1 ราย

ธุรกิจให้เช่าเสาเทเลคอมดังกล่าว จะเป็นอีกธุรกิจที่มีความสำคัญ และสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอ (Recurring Income) ได้ในระยะยาวให้กับ UWC  โดยในปี 2564 นี้ บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากค่าเช่าในโครงการเทเลคอมในต่างประเทศนี้ร่วมกับรายได้จากการผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในประเทศอีกด้วย

www.mitihoon.com