CGD กลับมาผงาดปี 64 มั่นใจพลิกโชว์กำไร หลังปรับลดหนี้ – ต้นทุนทางการเงินลดลง มีสินทรัพย์ พร้อมโอนและรับรู้รายได้ทันที 1.6 หมื่นลบ.

236

มิติหุ้น-CGD เดินหน้าสร้างศักยภาพ กางหมุดปี 64 ธุรกิจสดใส ผลประกอบการปรับตัวดีและกลับมามีกำไร หลังบริหารจัดการเคลียร์หนี้เสร็จสิ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ฟากซีอีโอ “เบน เตชะอุบล” ระบุจากนี้จะเห็นการเติบโตอย่างมั่นคง ปัจจุบันมีสินทรัพย์ พร้อมโอนและรับรู้รายได้ ทันทีกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท จากโครงการโฟร์ซีซั่นส์ไพรเวทเรสซิเดนซ์ สนับสนุนการเพิ่มรายได้-กำไร และผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น

นายเบน เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CGD) ผู้พัฒนาโครงการ “เจ้าพระยา เอสเตท” โครงการมิกส์ยูสที่มีทั้งคอนโดมิเนียมและโรงแรมระดับ 5 ดาวสองแห่ง มูลค่าโครงการรวมกว่า 32,000 ล้านบาท เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 จะกลับมีทิศทางที่ดีจากปี 2563 ที่มีผลการขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562  เนื่องจาก บริษัทจะนำเงินจากการขายสินทรัพย์ คือกลุ่มธุรกิจโรงแรมซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ และธุรกิจโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมน้ำเจ้าพระยาให้กับ บริษัทผาแดงอินดัสทรี (PDI) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม CGH

ไปชำระคืนหนี้สิน ส่งผลให้ลดต้นทุนทางการเงินเสริมสร้างความแข็งแกร่งของงบดุล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพต่อการปรับตัวรับสถานการณ์ต่าง ๆ และรองรับธุรกิจในอนาคต ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มและเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน

ทั้งนี้ บริษัทฯคาดว่าแนวโน้มธุรกิจ รวมทั้งผลประกอบการจะกลับมาดีขึ้นและมีกำไรได้ในปี 2564  ขณะที่โครงการโฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ มียอดพร้อมโอนมูลค่าราว 16,000 ล้านบาท ซึ่งทยอยโอนมาตั้งแต่ไตรมาส

4/62 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียน สภาพคล่องได้เป็นอย่างดีในการพัฒนาโครงการในอนาคต  โดยจะสามารถรักษาระดับกำไรขั้นต้นของโครงการไว้ในระดับสูง ที่เฉลี่ยที่ผ่านมาอยู่ที่ 53%

“การบริหารจัดการฐานะทางการเงินในเชิงรุงตามแผนการที่วางไว้ ประกอบกับสินทรัพย์พร้อมโอนจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง โดย CGD สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและแบรนด์ที่มีคุณภาพสูง เป็นที่รู้จักเพื่อเพิ่มรายได้ กำไร และผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยเชื่อมั่นว่าบริษัทจะมีความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัวรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ”

เขากล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี2563 มีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 406 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 434 ล้านบาทในปี 2562 โดยส่วนใหญ่เกิดจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่า 740 ล้านบาทจากการจำหน่ายธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นการขาดทุนทางบัญชีเท่านั้นและไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท

อย่างไรก็ตามหากไม่รวมผลขาดทุนจากการด้อยค่า  จะมีกำไรก่อนภาษีเงินได้เท่ากับ 460 ล้านบาทในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 218% จากปี 2562 ซึ่งการเข้าทำรายการดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญของแผนการบริหารจัดการเชิงรุกในการสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุน และเพิ่มสภาพคล่อง ทั้งนี้ธุรกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้ถือหุ้นโดยได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่18 มกราคม 2564

www.mitihoon.com