กบข. คาดแนวโน้มสินทรัพย์เสี่ยงสูงยังไปได้ดี แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

49

มิติหุ้น-ถึงแม้วัคซีนโควิด-19 จะช่วยจุดประกายสร้างความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ถูกผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดหนักที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลกลางแต่ละประเทศใส่เม็ดเงินเข้ามาในระบบเพื่อฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจแท้จริงยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงไหลไปลงทุนในทรัพย์สินเสี่ยงมากขึ้น เพื่อหาผลตอบแทนทางการเงินที่สูงกว่า

กบข. มองแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น เห็นได้ชัดจากดัชนีภาคเศรษฐกิจในหลายตัวชี้วัดเริ่มฟื้นตัวและปรับตัวได้ดีขึ้น หลังจากที่มีการเร่งฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นแซงหน้าการแพร่เชื้ออย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร และในอีกหลายภูมิภาค

ในขณะที่เศรษฐกิจของไทย ยังคงมีแนวโน้มการฟื้นตัวช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกและภาคบริการอย่างการท่องเที่ยว จึงยังคงต้องการมาตรการเยียวยาทั้งด้านการคลัง และการเงินที่ตรงจุดเพิ่มเติมต่อไป

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลกลางทั่วโลกอัดฉีดเพื่อช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เร็วกว่ากำหนด ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไหลไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง กบข. จึงมองว่าตลาดตราสารทุนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) และกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ได้แก่ ทองแดง น้ำมัน และสินค้าเกษตรกรรม ยังคงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กบข. มองว่า ยังคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน จากการที่ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มส่งผลไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวขึ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดย กบข. คาดว่าอาจจะปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 1.5-1.6% ภายในปี 2564 นี้ รวมถึงค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าอยู่ในระดับ 29.50 – 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงยืนยันในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป

www.mitihoon.com