EPG มั่นใจปีบัญชี 63/64 ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นเป็นไปตามเป้าหมาย

78

มิติหุ้น – รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีบัญชีนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ผลประกอบการในปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) มีรายได้จากการขายลดลงประมาณ 1012% จากปีก่อน และอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 2830% เป็นไปตามเป้าหมาย

 หากพิจารณาจากสัดส่วนการขายงวด 9 เดือน ปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63-ธ.ค.63) 45% มาจากยอดขายกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Aeroklas นับเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก 28% มาจากยอดขายกลุ่มธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็นภายใต้แบรนด์ Aeroflex และ27% มาจากยอดขายธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้    แบรนด์ EPP ซึ่งเป็นธุรกิจสนับสนุนที่สำคัญ แม้ไตรมาสแรกของปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63-มิ.ย.63) กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Aeroklas เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม EPG จากการที่ค่ายรถยนต์หลายแห่งในประเทศประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid19) แต่ยอดขายฟื้นตัวกลับมาเร็วที่สุดในกลุ่ม EPG ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 63/64 เป็นต้นไป นอกจากนี้    การนำนโยบายลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือ นโยบาย “USE(U: Utilization การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า S: Save การประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน) มาใช้บริหารงานภายในองค์กร ส่งผลให้งวด 9 เดือน ปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63-ธ.ค.63) สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ถึง 182 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการดำเนินงานของกลุ่ม EPG มีดังนี้ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex เป็นสินค้าจำเป็น ที่นำไปใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม เป็นต้น Aeroflex มีสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 29% และ ต่างประเทศ 71% โดยยอดขายในประเทศยังเติบโตช้าตามการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายในญี่ปุ่น และยุโรป สำหรับการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะนำเครื่องจักรระบบ High speed มาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คาดว่าจะเริ่มทดสอบการผลิตได้ประมาณเดือน มิ.ย. 64

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas มีสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 24% และต่างประเทศ 76% อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้สินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ Aeroklas ปรับตัวดีขึ้น สำหรับธุรกิจในออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd (TJM) มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการยานยนต์ประเภท Light Commercial Vehicle และ SUV ในออสเตรเลียสูงขึ้นจากปีก่อน อีกทั้ง TJM ได้เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ เพื่อความสะดวกของลูกค้าในการเลือกซื้อสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ TJM มีแผนขยายแฟรนไชส์ TJMในทวีปเอเชีย ภายใน 2 ปี

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP มีสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 94% และต่างประเทศ 6% โดย EPP ยังคงทำตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจึงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาชดเชยกลุ่มถ้วยน้ำพลาสติกที่ชะลอตัวลง สำหรับกรณีที่จะมีมาตรการยกเลิกการใช้แก้วพลาสติกบางความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน ในปี 2565 นั้น  EPP ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากถ้วยน้ำพลาสติก EPP มีขนาดมากกว่า 100 ไมครอน อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทไบโอพลาสติก และกระดาษ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือน ปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63-ธ.ค.63) บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,874.9 ล้านบาท ลดลง 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 815.7 ล้านบาท สูงขึ้น 8.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 63/64 (ต.ค.63– ธ.ค.63) มีรายได้จากการขาย 2,593.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,427.7 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8% การนำนโยบายลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมาใช้อย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 33.2% อยู่ในระดับสูง และมีกำไรสุทธิ 433.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 213.4 ล้านบาท นับเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของกำไรสุทธิรายไตรมาส รศ.ดร.เฉลียว กล่าว

wwww.mitihoon.com