AKR ฮุบงานหม้อแปลง3 พันล.-กำไรQ4/63พุ่งเฉียด100% (05/02/64)

351

 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม หรือ AKR ทำธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าและบริการซ่อมบำรุง และรับออกแบบติดตั้งรวมทั้งก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย โดย “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์” เปิดเผยว่า คาด AKR แจ้งผลงานไตรมาส 4/63 มีกำไรสุทธิที่ 55 ล้านบาท เติบโตกว่า 96% จากไตรมาสก่อน และเติบโตกว่า 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กำไรทำนิวไฮ-แจกปันผล50%

โดยหลักๆมาจากช่วงไตรมาสสุดท้าย AKR มีการรับรู้รายได้จากการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าล็อตใหญ่ให้กับทางภาครัฐบาลและเอกชน รวมถึงตลอดทั้งไตรมาส 4/63 มีการรับงานใหม่ๆและรับรู้รายได้ทันที ดังนั้นทั้งปี 63 คาดกำไรสุทธิจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ในรอบหลายปีที่ 85 ล้านบาท ส่วนปี 64 คาดกำไรสุทธิจะทำนิวไฮต่อเนื่อง ซึ่ง AKR จะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด และกลับมาจ่ายปันผลตามนโยบายที่ 50% ของกำไรสุทธิ

ลุ้นราคาวิ่งชน1บ.

ดังนั้นแนะนำ “ซื้อสะสม” หุ้น AKR หลังจากเข้าสู่โหมด “หุ้นเทิร์นอะราวด์” ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เพียง 0.86 เท่าและราคาหุ้นยังต่ำกว่าบุ๊กแวลูที่ 0.75 บาท ทั้งนี้หากสังเกตุผลงาน AKR ในอดีตเมื่อปี 58 มีกำไรสุทธิ 94.61 ล้านบาท ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดที่ 3.20 บาท ดังนั้นหากในปี 63-64 AKR มีผลงานเข้าสู่โหมดปกติและกำไรทำนิวไฮ จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ราคาหุ้นจะค่อยๆไปยืนที่จุดเดิม อย่างไรก็ดีเบื้องต้นแนะนำ “ซื้อสะสม” เป้าหมาย 1 บาท

 

ด้าน “นายดนุชา น้อยใจบุญ” กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ปี 64 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตแบบ Conservative ที่ 10% จากการทยอยรับรู้รายได้งานในมือ (Backlog) ณ สิ้น ธ.ค.63 อยู่ที่ 300 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทได้ปรับกลยุทธ์เน้นรับงานภาครัฐบาลมากขึ้น เพราะภาคเอกชนต่างชะลอการลงทุนจากผลกระทบ Covid-19

ชี้งานหม้อแปลง3พันล.

โดยในช่วงครึ่งแรกปี64 “ธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า” เตรียมเข้าประมูลงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประมาณ 2 พันล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณ 1 พันล้านบาท คาดจะได้รับงานเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณงานทั้งหมด รวมถึงมองโอกาสเข้ารับงานในพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย เพราะมีความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าสูงมาก

ส่วน “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือ EPC” เตรียมเข้าประมูลงาน EPCโซลาร์รูฟท็อป 100-200 MW คาดสนับสนุนให้ Backlog เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีกว่า 50 ล้านบาท ขณะที่ “ธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้า” อยู่ระหว่างมองโอกาสการลงทุนใหม่ๆ จากปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 4.5 MW (รวมสหกรณ์บางบัวทอง 3.35 MW)

www.mitihoon.com