UAC กางแผนปี 64 ปั้นรายได้ทั้งปีโต 10% เร่งเดินเกมรุกด้าน Energy Efficiency – High Value Product

96

 

UAC,ยูเอซี โกลบอล,Energy Efficiency,CLMV,ธุรกิจไบโอดีเซล,ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง,High Value Product,EBITDA,การบริโภค,ยอดขาย,รายได้,กำไร

มิติหุ้น– บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) กางแผนธุรกิจปี64 ชูกลยุทธ์การลงทุนด้าน Energy Efficiency ทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศ CLMV พร้อมพัฒนาธุรกิจไบโอดีเซล สู่ไบโอเคมิคัล สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Product) หนุนรายได้รวมทั้งปีโต10% จากปีก่อนและตั้งเป้า EBITDA ไม่ต่ำกว่า18% ของยอดขาย   

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี   โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2564 ว่า จะมีอัตราการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน พร้อมทั้งตั้งเป้า EBITDA ไม่ต่ำกว่า 18% ของยอดขาย ทั้งนี้เป็นผลจากการบริโภคมีสัญญาณที่ดีขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของ UAC สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี พลังงาน และเคมีภัณฑ์ ดังนั้นเมื่อการบริโภคฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อธุรกิจเทรดดิ้ง และ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ของบริษัทฯ

ส่วนแผนการลงทุนของบริษัทฯ ในปีนี้ ยังคงมุ่งเน้นนโยบายการลงทุนด้าน Energy Efficiency       ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV โดยจะพิจารณาต่อยอดธุรกิจเพื่อเลือกลงทุนในโครงการที่สร้างผลตอบแทน (ROE) ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% ขึ้นไป จากปัจจุบันที่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ระดับ 15 -16% ส่วนความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น บริษัทฯมีความพร้อมทุกด้านหากรัฐบาลอนุมัติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทมีความพร้อมจากกำลังผลิตที่มี 3 เมกะวัตต์ (MW) ที่สามารถเข้าเงื่อนไข “Quick Win” เดินเครื่องการผลิตไฟฟ้าได้ทันที โดยบริษัทฯตั้งเป้าประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งใหม่ ประมาณ 6-9 MW ภายใต้งบลงทุนราว 300-600 ล้านบาท  เพิ่มเติมจากโครงการในจังหวัดขอนแก่นที่มีอยู่แล้วราว 3 เมกะวัตต์

“ หากภาครัฐมีความชัดเจนเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทฯ มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากบริษัทฯมีข้อได้เปรียบจากกรณีที่มีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าชุมชนที่ จ.ขอนแก่น กำลังการผลิตประมาณ 3 เมกะวัตต์ ที่เดินหน้าได้ทันที ซึ่งบริษัทฯมีความพร้อมด้านศักยภาพ เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงาน และประสบการณ์จากการประกอบการในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมานานนับ 10 ปี”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐบาลสนับสนุนให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะส่งผลดีและเกิดประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรในชุมชน เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้าจะรับซื้อวัตถุดิบพืชพลังงานจากเกษตรกร ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรในชุมชนสามารถมีรายได้มั่นคงและยั่งยืนขึ้น รวมถึงยังสามารถช่วยลดมลพิษเช่น PM2.5 เปลี่ยนจากการเผาต้นข้าวโพดทิ้ง เป็นการนำมาจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าได้

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ มีแผนในการนำศักยภาพความแข็งแกร่งด้าน Know-how มาต่อยอดธุรกิจใน           รูปแบบการเป็นที่ปรึกษา โดยบริษัทฯ จะนำนวัตกรรมความเชี่ยวชาญประสบการณ์ ขยายโอกาสเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ภายใต้ความร่วมกับพันธมิตร โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ บมจ.ซันสวีท เพื่อเข้าเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างระบบไบโอแก๊สจากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตของโรงงาน (ซังข้าวโพด) ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และเชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะเห็นความร่วมมือในรูปแบบดังกล่าวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

ส่วนแผนความคืบหน้าโครงการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงานทดแทนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์      ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชาธิปไตยประชาชนลาว นั้น ปัจจุบันมีการลงทุนเฟสแรกในโครงการธุรกิจบริหารจัดการขยะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นี้ และหลังจากนั้นดำเนินการก่อสร้างเฟสที่ 2 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 6 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนในธุรกิจไบโอดีเซล นั้น CEO “UAC” กล่าวว่า บริษัทฯยังคงศึกษาและต่อยอดธุรกิจไบโอเคมีคัล อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Product) ซึ่งใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีการร่วมทุนกับบริษัทย่อยของ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น ในสัดส่วนการถือหุ้น 30% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ด้วยกำลังผลิต 810,000 ลิตรต่อปี ซึ่งธุรกิจไบโอดีเซลนั้นได้ประโยชน์จากที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนการใช้ B10 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง

www.mitihoon.com