สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ประกาศนโยบายปี 64 ลุยจัด 2 งานใหญ่

64

มิติหุ้น – สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน  รับพิษเศรษฐกิจ และ Covid-19 ทำตลาดรวมรับสร้างบ้านปี 2563 ลดลง 5% จากประมาณการมูลค่าตลาดรวมทั้งปีอยู่ที่ราว 12,500 ล้านบาท ล่าสุด นายกสมาคมฯ  “วรวุฒิ กาญจนกูล” ประกาศนโยบายปี 2564 สร้างมาตรฐานกลางการก่อสร้าง และออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน พร้อมนำสมาชิกสมาคมฯ ลุยจัดกิจกรรม 2 งานใหญ่  “งานรับสร้างบ้าน Focus 2021” ในช่วงเดือนมีนาคม และ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021” ในช่วงเดือนตุลาคม หวังกระตุ้นตลาดตลอดทั้งปี ควบคู่ขนานไปกับการทำการตลาดแบบออนไลน์เสมือนจริง (Virtual  Online) ในรูปแบบ 3 มิติ เตรียมเข้าหารือ รมว. คลัง รวมกับสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2563 ที่ผ่านมาโดยรวมตลาดลดลง 5% มาอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท (เท่ากับปี 2561) จากเดิมที่ประมาณการทั้งปีมีมูลค่าตลาดรวมน่าจะอยู่ราว 12,500 ล้านบาท สาเหตุที่ตลาดรวมลดลงนั้นมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2563 ทำให้หยุดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ และสมาคมฯ เองก็ได้ลดการจัดกิจกรรมการตลาดเหลือเพียงครั้งเดียวเดือนตุลาคม จากปกติในแต่ละปีจะจัด 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคม ภายใต้ชื่อ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2020” แต่เนื่องจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ตามการบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ต้องหยุดการจัดงานในช่วงเดือนมีนาคมไป

สำหรับในปี 2564 สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้สานต่อนโยบายต่อเนื่องจากปีก่อนใน 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้ คือ 1. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและงานขาย เพื่อช่วยเหลือสมาชิกของสมาคมฯ และเพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการเข้าถึงการบริการของบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้มากขึ้นผ่านการจัดงานใหญ่ประจำปี  2 ครั้งเหมือนเดิมภายใต้ชื่อ “งานรับสร้างบ้าน Focus 2021” ในช่วงเดือนมีนาคม และ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021” ในช่วงเดือนตุลาคม  ซึ่งปีนี้จัดที่ศูนย์การแสดงสินค้าเมืองทองธานี

พร้อมกันนี้ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยอมรับว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) รอบ 2 ในปัจจุบันนี้ ก็เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมได้และหวังว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ประกอบกับการที่รัฐบาลได้มีความชัดเจนเรื่องวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ตามข่าวออกมาว่าได้ขึ้นทะเบียนอย.ไทยแล้ว หากมีการเริ่มฉีดให้กับประชาชนแล้วได้ผลดีจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ และเชื่อว่ากลางปี 2564 ทุกอย่างน่าจะดีขึ้นแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านและสมาชิกได้เตรียมความพร้อมแบบคู่ขนานไปกับการจัดงานแบบออฟไลน์ “งานรับสร้างบ้าน Focus 2021” นั่นก็คือ ทำการตลาดแบบออนไลน์เสมือนจริง (Virtual  Online) ในรูปแบบ 3 มิติเข้ามาเสริม บนเว็บไซต์ ของสมาคมฯ www.hba-th.org ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้ามาดูรายละเอียดต่างๆได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การทำการตลาดแบบ Virtual  Online ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปแน่ชัดว่าจะทำไปพร้อมๆ กับช่วงการจัดงาน หรือ จะทำหลังการจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุฯ เรื่องนี้คงพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

2. โครงการจัดทำ “มาตรฐานกลางการก่อสร้าง” โดยสมาคมฯได้ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำมาตรฐานกลางการก่อสร้างขึ้นมาในทุกๆระบบงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน  การจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาจะเกิดประโยชน์ใน 3 ด้านคือ

2.1)  เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานงานบริการในธุรกิจรับสร้างบ้านของสมาชิกสมาคมฯ

2.2)  เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ผู้บริโภค

2.3)  เพื่อช่วยลดข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างลูกค้ากับบริษัทรับสร้างบ้าน

และ 3. โครงการ “แบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ “บ้านเบอร์ 5” โดยคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจะได้ลงนามหนังสือบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างสมาคมฯกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาประเทศและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนที่ผ่านมา พพ. ให้ความสำคัญกับแนวคิดบ้านประหยัดพลังงาน และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสู่ประชาชนภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาชิกของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมกับ พพ.มาตลอดเช่นกัน

ทั้งนี้ การลงนามหนังสือบันทึกข้อตกลง (MOU) ในครั้งนี้ระหว่างสมาคมฯ กับ พพ. เกี่ยวกับแบบบ้านประหยัดพลังงานนี้ จะนำไปสู่การลงลึกในรายละเอียดอื่นๆในหลายด้าน โดยแบบบ้านที่ได้การรับรองให้ติด “ฉลากเบอร์ 5” นั้นจะต้องมีรายละเอียดระดับประสิทธิภาพที่ตรวจสอบหรือวัดได้ชัดเจนว่าได้ว่าประหยัดพลังงานได้จริงๆกี่หน่วยหรือกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นต้น รวมถึงการนำเอามาตรการด้านการลดหย่อน “ภาษี” มาใช้เป็นแรงจูงใจ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนปลูกสร้างบ้านประหยัดพลังงานหรือนำเอาแบบบ้านที่ได้รับการรับรองจาก พพ.ที่ติด “ฉลากเบอร์ 5” มาเป็นแบบในการปลูกสร้าง

นอกจากนี้ ในอนาคตสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีแนวคิดที่จะเข้าไปปรึกษาหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเช่นกันถึงแนวนโยบายต่างๆ  ของกฟผ. เกี่ยวกับ “ค่าไฟ” ว่าจะสามารถมีแนวทางใดบ้างที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนผู้บริโภคในกรณีที่นำเอาแบบบ้านที่ได้รับการรับรองจาก พพ.ที่ติด “ฉลากเบอร์ 5” มาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย

นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า ในเร็วๆ นี้ สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านก็เป็นสมาชิกด้วยนั้นจะเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง ซึ่งหากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปหรือมีการออกมาตรการมาสนับสนุนเชื่อว่าจะเป็นอีกแรงกระตุ้นการตัดสินใจของประชาชนผู้บริโภค โดยในส่วนของตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้คาดว่าน่าจะมีมูลค่า 12,000 – 12,500 ล้านบาท

www.mitihoon.com