ก.ล.ต. สรุปผลโครงการ Regulatory Guillotine ปี 2563 สำเร็จแล้ว 15 โครงการย่อย และให้คำมั่นพร้อมเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง  

227

มิติหุ้น – ก.ล.ต. เผยผลสรุปการดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว รวม 15 โครงการย่อย โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ครอบคลุมทุกด้านของตลาดทุน ช่วยลดภาระและต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แล้วมากกว่า 153 ล้านบาทต่อปี ยืนยันเดินหน้าดำเนินการต่อเนื่อง อีก 68 โครงการย่อยให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2565 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและลดภาระของภาคเอกชนและประชาชน สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ

ตามที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชนและลดภาระของภาคเอกชนและประชาชน สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2563 – 2565 รวมทั้งสิ้น 83 โครงการย่อย นั้น

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2563 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วตามเป้าหมายรวม 15 โครงการย่อย ซึ่งครอบคลุมทุกด้านของตลาดทุน โดยช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 153.32 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้ 48,210 ชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้ 1,645,764 แผ่นต่อปี

ทั้งนี้ 15 โครงการย่อยที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ประกอบด้วยโครงการด้านธุรกิจตัวกลางและตลาด 5 โครงการ ด้านธุรกิจจัดการลงทุน 4 โครงการ ด้านการระดมทุน 3 โครงการ ด้านการกำกับการสอบบัญชีและรายงานทางการเงิน 2 โครงการ และด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและประสิทธิภาพองค์กร 1 โครงการ เช่น

            (1)  ยกเลิกการนำส่งบทสรุปประเภทรายงานของผู้สอบบัญชี (แบบ 61–4)

            (2)  ลดการจัดทำและจัดส่งแบบรายงานและงบการเงินของบริษัทจัดการเงินร่วมลงทุนเหลือปีละ 1 ครั้ง

            (3)  ปรับปรุงแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ โดยยุบรวมแบบ filing จากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 32 แบบ ให้เหลือเพียง 13 แบบ

            (4)  พัฒนาระบบและปรับปรุงหลักเกณฑ์การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม รวมทั้งการยื่นเอกสารประกอบคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ OFAM) โดยไม่ต้องส่งเอกสารเป็นกระดาษมายัง ก.ล.ต. อีก

            (5)  ปรับปรุงแนวทางควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker) และการค้าหลักทรัพย์ (dealer) ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ แนวปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ broker โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

            (6)  ปรับปรุงการขอความเห็นชอบระเบียบหรือข้อบังคับของสำนักหักบัญชีหรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยยกเว้นกรณีที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เช่น การแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายหลักทรัพย์ฯ

            (7)  ทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติของ ก.ล.ต. ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการยื่นข้อมูลเพื่อขอใช้ระบบงานของ ก.ล.ต. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และยกเลิกการส่งกระดาษมายัง ก.ล.ต.

“ในปี 2564 – 2565 ก.ล.ต. ให้คำมั่นที่จะดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine อย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป เพื่อช่วยลดภาระและต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชน โดยในปัจจุบันเหลืออยู่ 68 โครงการย่อย และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่า หากแล้วเสร็จครบทั้ง 83 โครงการจะช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้มากกว่า 219.25 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้ 111,720 ชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้ 1,976,645 แผ่นต่อปี” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการ Regulatory Guillotine ได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/RegulatoryGuillotine

หมายเหตุ:

Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

www.mitihoon.com