TTA ลุยซื้อเรือเพิ่มเป็น24 ลำ-Q4กำไรทะยาน

922

 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTAทำธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น โดยลงทุนในธุรกิจหลัก 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และกลุ่มการลงทุนอื่น โดย “นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ”กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทได้ซื้อเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมือสอง จำนวน 1 ลำ คือ เรือ ทอว์ นิจนิรันดร์ โดย “บ.โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ พีทีอี แอลทีดี หรือ TSS” ซึ่งเป็นบริษทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100%

โดย “เรือ ทอว์ นิจนิรันดร์” เป็นเรือประเภท Ultramax มีขนาดระวางบรรทุกของเรือ 61,144 เดทเวทตัน สร้างในปี 59 ส่งผลให้บริษัทมีกองเรือเพิ่มเป็น  24 ลำ ขนาดระวางบรรทุกเฉลี่ย 55,913 เดทเวทตัน อายุเฉลี่ยของกองเรือ 12.77 ปี

ด้าน “บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)” เปิดเผยว่า คาดว่าผลการดำเนินงานของ TTA ในไตรมาส 4/63 จะมีกำไรปกติราว 300 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 3/63 ที่ทำได้เพียง 51 ล้านบาท และดีกว่าไตรมาส 4/62 ที่ทำได้ 271 ล้านบาท คาดโมเมนตัมเชิงบวกของอุตสาหกรรมเรือเทกองยังต่อเนื่องถึง ช่วงครึ่งแรกปี 64

โดยคาดว่าค่าระวางเรือเฉลี่ย (Baltic Dry Index: BDI) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึง ช่วงครึ่งแรกปี 64 เป็นอย่างน้อย เพราะ 1.ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำจากจีน เช่น เหล็ก เร่งตัวขึ้น โดยยอดนำเข้าเดือน พ.ย. 63 ของจีน +4.5% YoY เป็นการนำเข้าสินแร่เหล็ก +8.3% YoY และผลิตภัณฑ์เหล็ก +78.3% YoY

2.โครงสร้างตลาดมีแนวโน้มเป็นอุปสงค์ส่วนเกินจาก 3 เหตุผล (2.1) Clarksons Research คาดการณ์อุปสงค์เรือเทกองในปี 2021 จะเพิ่มขึ้น 4.4% YoY มากกว่าอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% YoY (2.2) ปริมาณการสั่งต่อเรือใหม่อยู่ที่ 7% ของปริมาณกองเรือทั่วโลก ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 45 (2.3) ราคา Scrap เรือปรับตัวขึ้นเร็วในเดือน ธ.ค. 63 ทำให้มีเรือจากเอเชียใต้ที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลของ COVID-19 นำเรือไป Scarp มากขึ้น ส่งผลให้อุปทานตึงตัวชั่วคราว

3.การค้าในภูมิภาคเอเชียจะกลับมาคึกคักจาก RCEP ข้อตกลงอย่างเป็นทางการยังต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาในด้านกฎระเบียบของแต่ละประเทศ แต่เราคาดว่าการปรับเปลี่ยน Supply chain มาอยู่ในกลุ่ม RCEP จะเริ่มตั้งแต่ 1H64 โดยเฉพาะจีนที่ต้องการลดข้อขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้การขนส่งในภูมิภาคกลับมาเร่งตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลดีต่อ TC Rate ของ TTA

4. ผลบวกทางอ้อมจากค่าเช่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ตึงตัว แม้เรือเทกองจะเป็นการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบต้น-กลางน้ำ ซึ่งไม่สามารถใช้ทดแทนเรือคอนเทนเนอร์ที่เป็นการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปได้ แต่จากสถิติที่ผ่านมา เราพบว่าค่าระวางเรือเทกองจะเคลื่อนไหวตามเรือคอนเทนเนอร์ โดยมี Lag time อยู่ราว 3-4 สัปดาห์ ซึ่งเรือคอนเทนเนอร์กำลังทำสถิติสูงสุดใหม่อยู่ในปัจจุบัน

5. ในส่วนของ TTA จะได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากจำนวนเรือที่เพิ่มขึ้น เมื่อ 16 ธ.ค. 63 TTA รายงานการซื้อเรือเทกองมือสอง จำนวน 1 ลำ โดยเป็นเรือขนาด Ultrmax ระวางบรรทุก 61,171 เดทเวทตัน ทำให้กองเรือในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 23 ลำ ขนาดระวางบรรทุกเฉลี่ย 55,686 เดทเวทตัน และอายุเฉลี่ย 12.99 ปี

ด้าน “ธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง (Offshore Service)” จะกลับมา Break even ในปี 64 หลังจาก “บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน)”  (TTA ถือหุ้น 58.2%) มีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยขายหุ้นในบริษัทร่วม เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่งค์ จำกัด (AOD) ที่ถือหุ้นอยู่ 33.76% ออกไปทั้งหมด ในราคา 965.56 ล้านบาท และมีการบันทึกขาดทุนจากการขายเงินลงทุน 1,406 ล้านบาทในไตรมาส 3/63  ทำให้แนวโน้มผลประกอบการของเมอร์เมดหลังจากนี้ มีแนวโน้มกลับมามีกำไรสุทธิเร็วขึ้น เพราะธุรกิจบริการเรือขุดเจาะน้ำมันที่ขายออกไป 3 ลำมีผลขาดทุนต่อเนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมที่เป็นขาลง

โดยเบื้องต้น ปี 63 คาดผลประกอบการจะเป็นขาดทุนสุทธิ 1,755 ล้านบาท และขาดทุนปกติ 365 ล้านบาท จากผลของการขนส่งที่ชะลอตัวไปมากในช่วงครึ่งแรกปี 63 เพราะการระบาดของ COVID-19 ส่วนปี 64 คาดว่าจะพลิกมามีกำไรปกติราว 600-800 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากธุรกิจใหม่ และงานบริหารจัดการน้ำของ aim ที่มีงานในมืออยู่ราว 1 พันล้านบาท) เพราะ (1) โมเมนตัมธุรกิจเรือเทกองยังดีต่อเนื่องถึง 1H64 เป็นอย่างน้อย (2) ธุรกิจบริการนอกชายฝั่งจะเข้าสู่จุดคุ้มทุนและมีโอกาสพลิกมามีกำไร (จากที่ส่งผลขาดทุนมายัง TTA ปีละ 200-400 ล้านบาท) เนื่องจากไม่มีเรือเข้าอู่แห้งเหมือนปี 2563 และราคาน้ำมันที่เป็นรายได้ของกลุ่มลูกค้าหลักเริ่มมีการฟื้นตัว (3) รับรู้รายได้จากธุรกิจเรือเทกอง 23 ลำเต็มปี หลังจากที่รับมอบเรือ 1 ลำในเม.ย. 63 และอีก 1 ลำใน ธ.ค. 63 แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 9.00 บาท

www.mitihoon.com