ดอลลาร์ออสเตรเลีย ไปต่อ หรือพอแค่นี้

584

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในสกุลเงินซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มสกุลเงินหลัก (G10) รองจากสกุลเงินโครน ของนอร์เวย์ ขณะที่สกุลเงินอื่นๆในกลุ่มนี้ อาทิ ยูโร และเยน ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยในปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเคลื่อนไหวผันผวนอย่างหนักจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติ COVID-19 เช่นเดียวกับสินทรัพย์ทางการเงินอีกหลายประเภท ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นรอบใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจากความหวังของตลาดเกี่ยวกับการทดลองวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่มีแนวโน้มลดความตึงเครียดลงในยุคประธานาธิบดีไบเดน ทั้งนี้ ในปี 2563 ธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.10% พร้อมทั้งดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) เพื่อประคองเศรษฐกิจ

 

ตลาดคาดว่าจีดีพีของออสเตรเลียจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่การค้าโลกกำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง ลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจของเศรษฐกิจออสเตรเลีย คือ ระดับความเชื่อมโยงสูงกับราคาทรัพยากรธรรมชาติ สินแร่ และสินค้าโภคภัณฑ์ จนบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็น China Proxy Play โดยในช่วงที่เศรษฐกิจจีนบูมอย่างมากหลังเปิดประเทศเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกช่วงปลายปี 2544 จนถึงวิกฤติการเงินโลกในปี 2550 เงินดอลลาร์ออสเตรเลียยังมีสถานะเป็น High Yield Play อีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2562 จีนเป็นตลาดสินค้าอันดับหนึ่ง คิดเป็นกว่า 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลีย ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/63 เติบโต 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนในปี 2563 GDP จีนขยายตัว 2.3% ซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่ขยายตัวท่ามกลางการวิกฤติสาธารณสุข กลับมาที่ออสเตรเลีย พบว่าค่าเงินล้อไปกับราคาน้ำมันและทองแดง ซึ่งสอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมการผลิตของโลกอย่างชัดเจน (กราฟด้านล่าง)

 

เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ออสเตรเลียจะแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.80 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้า หรือ 3.9% จากระดับปัจจุบัน ขณะที่เมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น ดอลลาร์ออสเตรเลียอาจแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยราว 0.5-1.0% บนสมมติฐานสำคัญของเราที่ว่านโยบายการเงินการคลังของสหรัฐฯจะสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงมีแนวโน้มกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในภาพรวม อย่างไรก็ดี ยังคงต้องระวังว่าค่าเงินที่เชื่อมโยงกับการเติบโตของโลกมีความเสี่ยงและอ่อนไหวสูง ทั้งจากบรรยากาศการลงทุนและสภาพคล่องในระบบการเงิน อุปสงค์จากจีนต่อสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงความไม่แน่นอนด้านประสิทธิผลของวัคซีนในระยะถัดไป กล่าวโดยสรุปเงินดอลลาร์ออสเตรเลียมีแนวโน้มขึ้นต่อเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ขาขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้นมีจำกัด

www.mitihoon.com