ทางตันรถไฟฟ้า “สายสีเขียว”… บทสะท้อน “วินสตัน ตู่”

591

ก็ไหนลูกพรรค พปชร. โอ่นักโอหนาว่ารัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ชุดนี้บริหารบ้านเมืองได้เก่งโคตร นายกฯ ลุงตู่ เป็นนายกฯ มีการตัดสินใจเฉียบคม เด็ดขาด ยึดมั่นผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ชนิดที่ไม่มีอดีตนายกฯคนใดในประวัติศาสตร์จะมาเทียบชั้นได้ จนถึงขนาดที่มีการยกย่อง “นายกฯ ลุงตู่” เทียบชั้น “วินสตัน เชอร์ชิลด์” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ กันเลยทีเดียว

แล้วเหตุใดกลับ “บ้อท่า” แค่จะขี้ขาดว่าจะเอาอย่างไรกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงมหาไทย ตั้งแท่นจะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้ขาดว่า จะต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC หรือ “ล้มกระดาน” เปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานกันดี

ยังผลให้คนกรุงอาจต้องเผชิญกับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า สุด “มหาโหด” ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบแยกส่วนแยกโครงข่าย สูงสุดถึง 158 บาท นับแต่วันที่ 16 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป หลังจากที่ กทม.ออกมายืนยันนั่งยันว่า ไม่มีสภาพคล่องและเงินเพียงพอจะว่าจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าต่อไปได้อีก ขณะที่แนวทางการต่อสัญญาสัมปทานซึ่งมีเงื่อนไขให้เอกชน BTS จะต้องแบกรับภาระหนี้ทั้งมวลจาก กทม.และคงอัตราค่าโดยสารสูงสุดไว้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสายนั้นยังไม่มีข้อยุติ จึงจำเป็นต้องเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารเต็มอัตรา

นี่แปลว่า ประชาชนคนกรุงกำลังถูกจับเป็นตัวประกันไปแล้วหรือ?!!!   

ย้อนรอยสงครามตัวแทน  “กทม.-รฟม.”

การขบเหลี่ยมระหว่าง 2 กระทรวง “มหาดไทย-คมนาคม” นั้นที่จริงแล้ว เป็นเพียง “สงครามตัวแทน” จากโครงการรถไฟฟ้า 2 สายทางที่ต่างฝ่ายต่างถือหางคนละฟาก เมื่อ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่กำลังโม่แป้งประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท แต่กลับ”เผชิญทางตัน”เนื่องจากถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลคือ บริษัทบีทีเอส โฮลดิ้ง หรือกลุ่ม BTS ยื่นฟ้องศาลปกครองจากปมเขื่องที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก ทั้งที่ได้ปิดขายซองประมูลไปแล้ว

ก่อนที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การคัดเลือกใหม่ และสั่งให้รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับไปใช้เกณฑ์เดิม แต่กระนั้นทั้ง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก กลับเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทำสั่งคุ้มครองและทุเลาของศาลปกครองกลาง ด้วยหวังจะเดินหน้าใช้เกณฑ์คัดเลือกใหม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ที่ผ่านมากว่า 2 เดือนเข้าแล้ว ศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมา

เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงมหาดไทย ต้องกระเตงแนวทางการขยายสัญญาโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวจากที่จะสิ้นสุดในปี 2572 โดยให้ขยายไปอีก 30 ปีจนถึงปี 2602 เพื่อให้การเดินรถมีความต่อเนื่อง โดย BTS ยอมรับเงื่อนไขที่จะรับมูลหนี้กว่า 68,000 ล้าน และตรึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวเอาไว้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย 68.5 กม.

แม้จะเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่สำหรับกระทรวงคมนาคมที่ยังคง “คาใจ” กับโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มที่ถูกกระตุกเบรกอยู่เวลานี้ย่อมไม่ยอมจบด้วยแน่ รายงานความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่มีไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. เพื่อคัดค้านการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวให้แก่กลุ่ม BTS ด้วยข้ออ้างยังมีเวลาอีกตั้ง 10 ปี และอัตราค่าโดยสารแพงเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นมูลเหตุขัดขวางการขยายสัมปทานในครั้งนี้

ขณะที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้แต่ชิ่ง “หนีเผือกร้อน” โยนกลองไปให้ 2 หน่วยงานเจรจาต้าอวยหาทางออกกันเอง ทั้งที่กรณีการเจรจาขยายสัญญาสัมปทาน BTS นั้นคาราคาซังมาตั้งแต่ปีมะโว้  

ทั้งที่จะว่าไป แนวทางที่ กทม. กระทรวงมหาดไทย นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อให้นายกฯเคาะโต๊ะในชั้นสุดท้ายก็เป็นผลมาจาก คำสั่งของนายกฯ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตาม ม.44 สั่งให้กทม.พิจารณาหาทางออกในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2556 (พ.ร.บ.พีพีพี) นั่นเอง!

จับคนกรุงเป็นตัวประกัน

สำหรับแนวทางที่ กทม. และกระทรวงมหาดไทยที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น มี 3 แนวทางประกอบด้วย..

1. การจัดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ ก่อนสิ้นสุดสัญญาปี 2572 ซึ่งมีข้อดีที่กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดค่าโดยสารถูกลงได้ แต่กรุงเทพมหานครจะต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอเพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1,300 ล้านบาท รวมถึงการชดเชยขาดทุนในการให้บริการส่วนต่อขยายปีละ 1,500 ล้านบาท และค่างานระบบไฟฟ้า  20,000 ล้านบาท และค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) 20,000 ล้านบาทหรือรวมกว่า 1 แสนล้านบาท

2. ว่าจ้าง BTS เดินรถไปจนถึงปี 2585 ซึ่งมีข้อดีที่ค่าโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานครและทำให้ตั้งค่าโดยสารถูกลงได้ และไม่มีข้อพิพาทกับ BTS โดยกรุงเทพมหานครจะต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับค่าดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1,300 ล้านบาท ค่าชดเชยการขาดทุนปีละ 1,500 ล้านบาท

และ 3. ขยายสัมปทานให้ BTS 30 ปี (2572-2602) โดย BTS ยอมรับเงื่อนไขที่จะรับมูลหนี้กว่า 68,000 ล้านของกทม.และตรึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว เอาไว้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย รวมทั้งยังต้องแบ่งค่าสัมปทานให้ กทม.อีกกว่า 200,000 ล้านบาทด้วย

เมื่อนายกฯ และ ครม. ยังไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ ลงมาจึงทำให้ประชาชนคนกรุงต้องลุ้นระทึกกับการที่จะต้องเริ่มจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวตามโครงสร้างอัตราใหม่แบบแยกส่วน โดยมีกำหนดอัตราสูงสุดถึง 158 บาท และจะทำให้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยสูงที่สุดในโลกในทันที

“จะว่าไปทั้ง 3 ทางเลือกข้างต้น กทม. และกระทรวงมหาดไทย ต่างจัดทำรายงานผลศึกษาส่งให้ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาอยู่แล้ว และหากนายกฯ หรือ ครม.ยังคาใจประเด็นใดก็สามารถเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง และอดีต รมว.คมนาคมที่น่าจะรู้ตื่นลึกหนาบางเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี”

แต่ก็ให้น่าแปลก! ทั้งนายกฯ และ ครม.ชุดป่าวประกาศบอกใครต่อใครว่าเก่งที่สุดในสามโลกกลับ “บ้อท่า” ไม่สามารถจะผ่าทางตัน 2 โครงการรถไฟฟ้าโลกแตกนี้ไปได้

ฝันลุยไฟรถไฟฟ้า สายใหม่  

ที่น่าฉงนยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่ รฟม.ยังคง “มืดแปดด้าน” กับการผ่าทางตันการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ไปอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯปรับเปลี่ยนในภายหลัง โดยอ้างส่งผลกระทบทำให้โครงการล่าช้า จึงไม่อาจจะรอการชี้ขาดจากศาลปกครองกลางได้นั้น

รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเอง กลับมีคำสั่งให้เลื่อนการเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาออกไปไม่มีกำหนดเช่นกัน ทั้งยังเลื่อนการจัดส่งรายงานชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกต่อศาลปกครองกลางออกไปอีกด้วย ทั้งที่เป็นการดำเนินการที่สวนทางกลับไปไปให้การต่อศาลปกครองสูงสุด

ล่าสุด ฝ่ายบริหาร รฟม. ยังออกมาป่าวประกาศเตรียมประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (พีพีพี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงินลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท โดยจะคลอดเกณฑ์ประมูลคัดเลือกในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 นี้ และคาดว่าจะได้ผู้รับสัมปทานภายในปีนี้เช่นกัน

ท่ามกลางข้อกังขาจากหลายภาคส่วน ขณะที่ รฟม.ยังไม่สามารถจะเคลียร์หน้าเสื่อการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มให้สะเด็ดน้ำ แล้วจะไป “ลุยไฟ” รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หรือสายอื่นๆ ให้ยุ่งขิงกันทำไมอีก? เพราะหาก รฟม.ไปกำหนดเงื่อนไขการร่วมลงทุน PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบร่วมลงทุนแบบใด ย่อมจะส่งผลกระทบไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อนหน้าด้วยกันทั้งสิ้น

เพราะหาก รฟม. ยังคงกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก โดยต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกันเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็คงไม่พ้นจะถูกร้องแรกแหกกระเชอตามมาอีก แต่หาก รฟม.หวนกลับไปยึดถือเกณฑ์ประมูลปกติเช่นโครงการอื่น ๆ โดยจะพิจารณาข้อเสนอทางการเงินจากเอกชนที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคแล้ว ย่อมก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วเหตุใดถึง “ดันทุรัง” ให้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลในโครงการจัดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม เพียงโครงการเดียว

เพราะการตอกย้ำให้เห็นมหกรรม “ขว้างงูไม่พ้นคอ” ที่อาจย้อนศรมายังฝ่ายบริหารและคณะกรรมการ รฟม.ทั้งชุดได้อีก เพราะลำพังแค่การผ่าทางตันโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่อยู่เบื้องหน้า จนถึงวันนี้ นายกฯ และ รมว.คมนาคม ก็น่าจะต้อง ”ตบรางวัล” ให้บอร์ด รฟม.และ ฝ่ายบริหาร รฟม.ชุดนี้แล้ว

เพราะ “น้ำผึ้งหยดเดียว” จากเกณฑ์คัดเลือกสุดหลุดโลกนี้แท้ ๆ จึงทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกักจนทำไปไม่เป็น!!!

ที่มา : http://natethip.com/news.php?id=3542

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

www.mitihoon.com